2nd benefit

2nd benefit

แฉโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยุค คสช. จี้รัฐออกกม.องค์การอิสระฯ

 IMG 0067

    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ร่วมกับ กสทช. ทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการวิทยุ หลังการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่วง คสช. พบโฆษณาผลิตภัฑณ์สุขภาพเกินจริงเอื้อ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ภาคประชาชนเร่งรัฐบาลออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค


วันนี้ (5 พ.ย. 57) โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฏร์ธานี สงขลา และสตูล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดตัว “โครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” พร้อมเผยผลการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2557


นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวว่า กสทช. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภค  10 จังหวัด สร้างนักร้องเรียนติดตามตรวจสอบการเผยแพร่ออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ จากการเฝ้าระวังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในสถานีวิทยุหลัก AM และ FM ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่ง กสทช. ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและพบว่าผิดกฎหมายจริง 4 สถานีในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่  สถานีวิทยุทหารอากาศ 20 สถานีวิทยุ สวพ.ขอนแก่น  สถานีวิทยุเบสท์เรดิโอ  และสถานีวิทยุสุขภาพดีมีสุข  โดย กสทช. ให้ระงับโฆษณาดังกล่าวหากฝ่าฝืนจะปรับวันละ 2 หมื่นบาท และกระทำผิดซ้ำจะส่งผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาต

“ขณะนี้ทราบว่าเครือข่ายผู้บริโภคกำลังติดตามเฝ้าระวังการนำเสนอเนื้อหาในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี  หลังจากที่ได้รับอนุญาตออกอากาศแล้วว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย  และจะส่งข้อมูลเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ด้วยในครั้งถัดไป”  นางสาวสุภิญญากล่าว

 

นายพชร แกล้วกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นำเสนอผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่า “การเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุในช่วงที่ คสช. เข้ามาควบคุมการกระจายเสียง จำนวน 3 ครั้งๆ ละ 1 สัปดาห์ ทางสื่อวิทยุจำนวน 33 คลื่นใน 10 จังหวัด แบ่งเป็นคลื่นหลัก จำนวน 31 คลื่น และคลื่นวิทยุออนไลน์จำนวน 2 คลื่น ซึ่งใน 31 คลื่น เป็นคลื่น FM 27 คลื่น และคลื่น AM 4 คลื่น ทั้งนี้ พบว่า 29 คลื่น (ร้อยละ 88) มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยพบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้นจำนวน 103 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 54 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา 35 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 13 รายการ และโฆษณาสถานพยาบาลจำนวน 1 รายการ”


นางสาวสิรินนา เพชรรัตน์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “จากการเฝ้าระวัง ทางเครือข่ายได้ประสานกับ กสทช. และ อย. โดยส่งผลการเฝ้าระวังไปยังทั้งสองหน่วยงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื้อหาโฆษณาทั้งหลายที่พบนี้สามารถก่อปัญหาให้กับสุขภาพของผู้บริโภคได้ เช่น โฆษณาว่ารักษาสารพัดโรค ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นโรคเรื้อรังหลงเชื่อ และหยุดการบริโภคยาของตน ซึ่งในอดีตก็มีกรณีร้องเรียนที่ผู้บริโภคเสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มายังเครือข่าย”

 

นางสาวศิริวรรณ อำนวยสินสิริ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในระดับจังหวัดและภาค เช่น จ.ลำปางที่ได้ร่วมกับ สสจ. และ กสทช.เขต 3 (ลำปาง) เชิญผู้ประกอบและนักจัดรายการประจำคลื่นต่างๆ หารือถึงแนวทางความร่วมมือในการจัดการปัญหา จนนำไปสู่การรวมตัวกันของนักจัดรายการและเจ้าของคลื่นธุรกิจกว่า 16 สถานี โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะไม่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันจาก สสจ.ก่อน

จังหวัดเพชรบุรีที่ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ 'จังหวัดจัดการตนเองด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริงทางสื่อชุมชน' จนเกิดเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ (เพชรบุรีโมเดล) ระหว่าง กสทช. กับเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้เจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคเท่าทันการโฆษณาเกินจริงทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จนนำมาซึ่งการอาสาตนของนักจัดรายการในการสนับสนุนและเป็นผู้ร้องเรียน

“จังหวัดกาญจนบุรีชวนผู้ประกอบการโดยมี สคบ.จังหวัด และ อย. ร่วมพูดคุยนำมาซึ่งการรวมตัวกันของสื่อวิทยุในพื้นที่เพื่อคัดกรองเนื้อหาก่อนการออกอากาศ  โดยสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกจังหวัดสะท้อนตรงกันคือการที่ยังขาดความรู้กฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงนำมาซึ่งโอกาสในการทำงานร่วมกันผ่านการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการและนักจัดรายการ การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังร่วมกัน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือแบบสามประสานระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหานี้ต่อไป” นางสาวศิริวรรณ กล่าว

 

นายนิรัตน์ เตียสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.เองอยู่ระหว่างการปรับปรุง พรบ.อาหาร ให้เพิ่มค่าปรับเป็นหนึ่งแสนบาท และได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำโครงการเฝ้าระวัง 1 อำเภอ ๑ สถานีวิทยุชุมชน แต่ในความเป็นจริงบางจังหวัดก็เฝ้าทุกสถานีซึ่งมีวิธีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการก่อน ซึ่งผู้ประกอบการบางคนก็รู้และไม่รู้ว่าผิดไม่ผิด

“ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะมีสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยคอยควบคุมดูแลกันเอง แต่ก็ยังมีนักโฆษณาที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมทำให้สมาคมไม่สามารถควบคุมได้”

 

จากเวทีความร่วมมือผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้มีการจัดทำข้อเสนอดังนี้

  1. ให้เครือข่ายเฝ้าระวังส่งข้อมูลที่ตรวจพบส่งให้สถานีวิทยุเพื่อตรวจสอบโฆษณา ถ้าพบว่าไม่ถูกต้องให้นำโฆษณาออกจากรายการ
  2. ให้สถานีวิทยุกวดขันตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา หากไม่มีใบอนุญาตไม่ให้มีการโฆษณาในสถานีวิทยุนั้นๆ
  3. สร้างความร่วมมือสามฝ่ายในระดับจังหวัดในการกำกับกันเอง
  4. ให้เร่งพัฒนาระบบคอลเซ็นเตอร์ / จุดรับเรื่อง /แอพพลิเคชั่น ในการให้ข้อมูลความรู้ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยง่าย
  5. จัดเวทีระดับชาติ สร้างความร่วมมือกับสถานีวิทยุ
  6. ปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มมาตรการบทลงโทษ

นอกจากนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และปรับปรุงพระราชบัญญัติยา ให้มีหมวดที่ว่าด้วยการจัดการโฆษณาและส่งเสริมการขายโดยยกระเบียบต่าง ๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา