2nd benefit

2nd benefit

คำพิพากษาคดี : ละเมิด ทางการแพทย์ กรณีคุณวิเชียร

 

ลงโทษหมอ + รพ.ร่วมรับผิด เหตุประมาทเลินเล่อร้ายแรงทำให้คนไข้ถึงตาย ศาลสั่งจ่าย 5 แสนบาท       

         ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 ภริยาของผู้เสียหายมีอาการปวดท้องมาหลายวัน เมื่อทนไม่ไหวจึงเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยมีแพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าวได้ตรวจโดยใช้มือกดที่บริเวณท้อง และแจ้งภริยาผู้เสียหาย โดยสันนิษฐานว่าเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่มาก จึงทำการผ่าตัดโดยไม่ได้อัลตราซาวด์ก่อน ภายหลังผ่าตัดพบว่าแท้จริงเนื้องอกดังกล่าวเป็นเด็กทารก คือ ภริยาของผู้เสียหายตั้งครรภ์อยู่มิใช่เนื้องอก จึงเย็บแผลให้ปิดดังเดิม

         ต่อมา ผู้เสียหายมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ดำเนินการเจรจากับโรงพยาบาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย

         หลังจากนั้น ภริยาผู้เสียหายไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง และในเดือนกรกฎาคม 2554 ภริยาผู้เสียหายมีเลือดออกจากบริเวณช่องคลอด และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งแรก ทางแพทย์ของโรงพยาบาลแจ้งต่อผู้เสียหายว่าภริยาของเขาตกเลือดและเสียเลือดมาก ขอให้เลือกรักษาชีวิตคนใดคนหนึ่ง ระหว่างภริยากับทารกในครรภ์ ผู้เสียหายเลือกรักษาชีวิตของภริยา แต่สุดท้าย เมื่อแพทย์ผ่าตัดนำซากทารกออก ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากแผลผ่าตัด เป็นเหตุให้ภริยาของผู้เสียหายถึงแก่ความตาย

         ผู้เสียหายจึงนำเรื่องมาฟ้องศาลจังหวัดมีนบุรี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับภริยาและลูกของตนที่เสียชีวิตจากการรักษาของแพทย์ โดยฟ้องแพทย์คนแรก เป็นจำเลยที่ 1 แพทย์ที่รักษาอาการตกเลือด เป็นจำเลยที่ 2 และโรงพยาบาลแห่งแรกเป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,190,263.33 บาท

         ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้เสียหายจึงอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และในเดือนมิถุนายน 2557 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้แพทย์คนแรก หรือจำเลยที่ 1 รับผิดจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีผลให้ภริยาของผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนานอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล จำเลยที่ 3 เพื่อรักษาบาดแผลที่เกิดจากการผ่าตัด ตลอดจนถึงวันที่กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงิน 200,000 บาท และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้ตาย จึงให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีก 300,000 บาท รวมจำนวนค่าเสียหาย 500,000 บาท และให้โรงพยาบาล จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ผู้ตายเข้าใช้บริการและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1

         จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว โดยคดีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่าง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา

คำพิพากษาคดี : ละเมิดทางการแพทย์ กรณี คุณวิเชียร หนูมา

   คดีหมายเลขดำที่ ผบ.975/2556
   คดีหมายเลขแดงที่ 11518/2557

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|