2nd benefit

2nd benefit

พลังงาน จ่อเลิกประกาศสำรวจปิโตรเลียม รอแก้ ก.ม.

EyWwB5W
พลังงาน จ่อโละประกาศเชิญชวนสำรวจปิโตรเลียม รอแก้ ก.ม. คาดใช้เวลา 3 เดือน ยืนยันคงรูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ไว้ที่ 3 แปลง พร้อมนำเข้าก๊าซฯ สำรองเตรียมไว้ และซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ขณะที่ ”วิษณุ” ย้ำจะเร่งพิจารณา ก.ม.ให้เร็ว...

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุเตรียมยกเลิกประกาศเชิญชวนสำรวจปิโตรเลียมฉบับเดิม เพื่อรอการแก้ไขกฎหมายที่คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน ก่อนจะออกประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการให้ผู้สนใจยื่นเอกสารเข้ามา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ในการเปิดรับเอกสาร ทั้งนี้ ยืนยันการเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะกำหนดการเจรจารูปแบบของ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไว้ที่ 3 แปลงเดิมตามที่เคยประกาศก่อนหน้านี้

สำหรับขั้นตอน หลังจากนี้จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดิมที่ประกาศออกมาก่อนหน้า และมีเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งคงต้องมีการคืนเอกสารกลับไป และในวันที่ 26 ก.พ. จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม เพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“การยกเลิกประกาศเชิญชวนครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือบ้าง แต่ก็ต้องทำกติกาใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และหากการเปิดสัมปทานและมีการสำรวจด้วยความรวดเร็ว ก็จะได้วางแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ในเบื้องต้นภาครัฐได้เตรียมความพร้อมด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ที่คลังของ ปตท. ซึ่งรองรับได้ 5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังแห่งที่ 2 รองรับได้รวม 10 ล้านตัน/ปี คิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติได้เพียง 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เท่านั้น”

ขณะที่ปริมาณการใช้ในประเทศมีมากถึง 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งการจัดหาพลังงานได้เร็วที่สุดคือการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดยการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมกว่าจะมีการสำรวจและการสร้างแท่นผลิตต้องใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งมีการลงทุนในระดับหมื่นล้านบาท

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายก่อนพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะไม่ถึงขนาดไปยกร่างฯ มาทั้งฉบับ แต่เป็นการแก้ไขบางเรื่องเท่านั้น จึงมอบกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าของเรื่อง โดยฟังจากคณะกรรมการระหว่างภาคประชาชนกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องไปหาข้อสรุปเรื่องเนื้อหามา จากนั้นนำมายกร่างฯ และเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณากฎหมาย และส่งไปยัง สนช.

“รัฐบาลจะเร่งประสานกับ สนช. ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ทุกคนรอ อยากมีกติกาที่ชัดเจน แต่ไม่กล้าตอบว่าจะใช้ระยะเวลาร่างกฎหมายเท่าไร แต่คาดหมายอยากให้เร็ว”.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  25 ก.พ. 2558 17:20

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :
|