บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมีประกัน “คุ้มมั๊ย ?”

Written on . ฮิต: 13718

 atm and debit card with insurance infographic for web30082016

         คงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า  ปัจจุบัน ผู้บริโภคเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินเดือนหรือทำธุรกรรมทางการเงิน นั้นเพื่อความสะดวก  แต่ถ้าต้องการให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปธนาคาร ก็ต้องทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตด้วย   แต่การทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต  มักจะถูกพนักงานธนาคารยัดเยียดให้ทำบัตรแบบพ่วงประกัน  โดยมัก อ้างว่าบัตรเอทีเอ็มแบบเดิมหมด หากจะทำต้องรอนาน   มีแต่บัตรเดบิตแบบพ่วงมีประกัน    ซึ่งตอนนี้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์คุ้มครองอุบัติเหตุด้วย เป็นต้น  มาดูกันซิว่า หากเราทำบัตรเดบิตพ่วงประกัน  เราจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง  หรือว่า  เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า

ค่าธรรมเนียม     
   
         มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น  เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีรวมกับเบี้ยประกัน

เงื่อนไขประกัน

- ไม่ทราบ เพราะไม่มีกรมธรรม์ ทำให้ไม่รู้ว่าบัตรเอทีเอ็ม/ เดบิต เป็นประกันแบบไหน คุ้มครองสุขภาพ อุบัติเหตุ และเมื่อถือบัตรไปเคลมประกันจะสามารถเคลมค่าสินไหมอะไรได้บ้าง

- เข้าใจผิดเพราะพนักงานบอกไม่หมด ให้ข้อมูลไม่ครบ เช่น บอกว่าสามารถเคลมประกันได้หากเกิดอุบัติทุกกรณี  แต่ไม่แจ้งว่า ไม่คุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

การเคลมประกัน  

         ต้องเลือกเคลมอย่างใดอย่างหนึ่ง  หากผู้ที่ถือบัตรเอทีเอ็ม/  บัตรเดบิตมีประกัน เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย    แล้วไปใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมีอยู่เดิม  เช่น  บัตรทอง   บัตรประกันสังคม  หรือ สิทธิข้าราชการ  ไม่สามารถนำหลักฐานใบเสร็จรับเงินไปเบิกซ้ำซ้อนกับประกันของบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบมีประกันได้  เพราะต้องใช้ต้นฉบับตัวจริงทั้งใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์  ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะเบิกตามสิทธิของผู้ป่วยก่อน      ยกเว้นว่าประกันที่ซื้อพ่วงกับบัตรเดบิตนั้นให้สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายวัน  เช่น หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ  ต้องนอนโรงพยาบาล  ประกันเหมาจ่าย วันละ 1,000 บาท    สามารถใช้สำเนาใบเสร็จและใบรับรองแพทย์เคลมประกันได้   แต่กรณีนี้มักจะจ่ายให้กับผู้เอาประกันที่เจ็บป่วยแล้วต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น  หากเป็นผู้ปวยนอกมักจะไม่สามารถเคลมประกันแบบเหมาจ่ายได้    

         กรณีหากเลือกใช้การเคลมประกันตามบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต  จะพบว่าหากเป็นโรงพยาบาลของรัฐต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน  จึงจะไปเคลมกับบริษัทประกันได้   หรือ  หากไปโรงพยาบาลเอกชน ต้องเช็คว่าโรงพยาบาลนั้นๆ  สามารถจัดการเคลมประกันได้เลยโดยเไม่ต้องสำรองจ่ายหรือไม่  เพราะโรงพยาบาลที่ไปใช้บริการอาจไม่ใช่โรงพยาบาลที่อยู่ในเครือของบริษัทประกันที่ทำข้อตกลงไว้   ยุ่งยากกับคนทำประกันว่าหากต้องเคลมประกันเองจะทำอย่างไร  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย                            
         คงต้องให้ผู้บริโภคพิจารณากันเองว่า  “ การทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบมีประกัน คุ้มมั๊ย” ต้องการทำบัตรแบบไหน   เพราะการทำประกัน “ เป็นเรื่องความสมัครใจ”   ไม่ใช่ถูกบังคับหรือเสมือนถูกบังคับให้ทำ  ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศแนวนโยบาย  “ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารพ่วงประกัน ”  [1]     

         หากพบปัญหาพนักงานธนาคารมีพฤติกรรมยัดเยียดให้ทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตมีประกันสามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.1213  หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  02-248-3737

คณะอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร 



[1] ตามประกาศของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556  เรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และะด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ข้อ 3.1  การเสนอขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ (3) ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์  หรือกำหนดเเป็นเงื่อนไขในการขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก  เช่นให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้สินเชื่อ หรือให้ผู้บริโภคทำประกันชีวิตก่อนเมื่อขอใช้บริการเช่าตู้นิรภัย  โดยธนาคารพาณิชย์ต้องให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลื่อซื้อผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง  และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ได้ 

 

พิมพ์