2nd benefit

2nd benefit

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินยังมีปัญหา ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป


news 12022015-02 

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องราชาวดี โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข จัดเวทีเสวนา “ฉุกเฉิน บริการสุขภาพนำส่งอย่างไรไม่เสียเงินเพิ่ม” เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้การให้บริการเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากที่สุด

นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (เอราวัณ) กล่าวว่า ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินในปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และมูลนิธิต่างๆ โดยจะรับแจ้งเหตุจากศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1646 และ 1669 ก่อนส่งรถรับส่งฉุกเฉินออกไปตามอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะทางด้านฉุกเฉิน ก็ทำให้การนำส่งจากเหตุฉุกเฉินบางครั้งมีความล่าช้าและไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่

นางภัทรภร ธนธัญญา ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขเป็นนโยบายที่ดีแต่ยังขาดกฎหมายที่รองรับให้สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม สังเกตได้จากที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลควรปรับปรุงนโยบายและกฎหมายให้มีความชัดเจนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจขอบเขตของภาวะฉุกเฉินให้มากขึ้น

ทั้งนี้ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัญหาด้านผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับบริการแล้วเกิดปัญหาเรื่องการส่งต่อ หรือการถูกเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลจำนวนมาก จึงได้เสนอแนะแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินโดยไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มและมีคุณภาพ ดังนี้

    1. ส่งเสริมให้ประชาชน ผู้ส่งต่อ และสถานพยาบาลเข้าใจคำว่าภาวะฉุกเฉินให้ตรงกัน
    2. ต้องประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้ชัดเจนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้สิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน
    3. แก้ไขพ.ร.บ.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้สามารถรองรับการใช้งานได้จริงมากขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นเพียงนโยบายของภาครัฐว่า ใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานได้จริง เนื่องจากประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารักษาพยายาลเพิ่มเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมในเรื่องของการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ซึ่งผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
    4. ปรับเรื่องการบริหารการเงินให้อยู่ในจุดสมดุลระหว่างจำนวนเงินที่ประชาชนสามารถจ่ายได้และในขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่ขาดทุน
    5. ต้องมีการกำหนดนโยบายเพิ่มเติมว่าประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลก่อน โดยให้ทางสถานพยาบาลดำเนินการติดต่อกับต้นสังกัดของผู้ป่วยโดยตรง เพราะปัจจุบันผู้ป่วยต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการรักษาพยาบาลก่อน แล้วจึงจะสามารถนำเงินไปเบิกกับต้นสังกัดได้ในภายหลัง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย
    6. ควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรด้านการแพทย์เพิ่มขึ้น
    7. ส่งเสริมให้เกิดการประเมินศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลว่ามีความพร้อมในการรับผู้ป่วยในแต่ละกรณีมากน้อยเพียงใด เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

news 12022015


นอกจากนี้ นายบุญเสริม ศุภศรี รองหัวหน้ากู้ชีพ มูลนิธิร่วมกตัญญูได้กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐยังขาดศักยภาพในการให้บริการประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล เนื่องจากมีความล่าช้า ผู้ป่วยต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการรักษาแต่ละครั้ง ทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถรอได้ และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีราคาที่สูงกว่ามากแทน


ผศ.ดร.ปวีณ นราเมธกุล รองผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉินมีหลักการที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด ตาม พ.ร.บ.แพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ปัจจุบันมีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลป่วยบนรถฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ชีพป.ตรีในการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดภาระจากแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้คุณภาพในการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น โดยนำร่องจังหวัดมหาสารคามมีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว


ทั้งนี้เวทีเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หน่วยปฏิบัติการนำส่ง อาทิ มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง หน่วยกู้ชีพ รพ. เลิศสิน เป็นต้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และเครือข่ายผู้บริโภคพื้นที่กรุงเทพมานคร ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|