2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • คู่มือด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เจอสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ต้องจัดการอย่างไร

570102 food

 

ถ้าคุณได้ยินโฆษณาสินค้าใหม่เป็นเครื่องดื่มที่เพิ่งวางขายแล้วอยากลอง จึงไปซื้อเครื่องดื่มนั้นจากร้านสะดวกซื้อและเมื่อเปิดดื่มรู้สึกเหมือนมีกรวดน้ำตาลอยู่ในปาก

แต่เมื่อดื่มจนเกือบหมดรู้สึกเจ็บคอ จึงบ้วนออกมาดู พบว่าเป็น เศษแก้ว สีเดียวกับขวด คุณจะทำอย่างไร

1. ช่างมันเหอะ ถือว่าฟาดเคราะห์

2. เจอกันหน่อยครับพี่น้อง ว่าแต่ว่าไปร้องใครดีหว่า

3. บ่นทางเน็ต เดียวดีเอง

 

ใครเลือกข้อไหนกันบ้าง ไม่ต้องตอบตอนนี้ ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ เรามีวิธีจัดการปัญหานี้มาบอก แบ่งแยกย่อยเป็น 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วพบว่า มีสิ่งปนเปื้อนทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เศษแก้ว ก้อนกรวด ลวดเย็บกระดาษ จิ้งจก และตะกอนขาวขุ่น เป็นต้น

2. กรณีอาหารที่ซื้อมาเปิดภาชนะออกแล้วพบว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น เส้นขนต่างๆ ขาแมลง ตัวแมลง/ แต่ยังไม่ได้บริโภคหรือรับประทาน

3. กรณีอาหารที่ซื้อมาแล้วพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารโดยไม่ได้เปิดภาชนะ

 

 

ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา

 

  1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
  2. ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน
  3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน
  4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดี ว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
  5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น

 

- ขอเปลี่ยนสินค้า

 

- ขอเงินคืน

 

- ชดเชยค่ารักษาพยาบาล

 

- จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ

 

- ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

 

 

หมายเหตุ :หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

 

 

ทั้ง 3 กรณี ถือว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวนความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้

 

 

ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

 

- ฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนายความ

 

- ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล

 

- มีเจ้าพนักงานคดีของศาล ช่วยเป็นที่ปรึกษาและจัดทำคำฟ้อง

 

- ระยะเวลารวดเร็ว เพียงสองศาลเท่านั้น

 

- ไปศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของที่เกิดเหตุความเสียหาย หรือศาลที่อยู่ในเขตที่ตั้งของผู้ผลิต

 

 

หากมีข้อสงสัยปรึกษาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟรี!!!!! โทร : 02-248 3737 ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน(วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.) หรือ ส่ง e-mail มาที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา

 

> กรณีพบเส้นขนในขนมปัง ได้รับการเยียวยาความเสียหายเป็นกระเช้าของขวัญที่บรรจุผลิตภัณฑ์นั้นจำนวน 1 กระเช้า

 

> กรณีพบก้นบุหรี่ในซองข้าวเกรียบกุ้งชนิดแท่ง ได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท โดยบริษัทยังได้เรียกคืนสินค้าล๊อตนั้นออกจากร้านค้าทั้งหมด

 

> กรณีพบตะกอนในน้ำมันพืช นำน้ำมันนั้นไปประกอบอาหารทานแล้วมีอาการท้องเสีย ไปพบแพทย์ ได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท และค่ารักษา เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท

 

> กรณีรับประทาน TAKO SASHIMI แล้วเคี้ยวเจอก้อนกรวดจนฟันแตก ได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 110,000 บาท