2nd benefit

2nd benefit

FTA-Watch แฉ คสช.เอาใจสหรัฐ-อียู เร่งแก้ร่าง พรบ.ศุลฯ อย.ชี้ผลกระทบร้ายแรง

BorderMeasure-SS1

เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉ คสช.เอาใจสหรัฐฯ และอียู เร่งแก้ ร่าง พรบ.ศุลกากร เปิดประตูหลังให้ TRIPS+ ชี้ อย.เคยท้วงติง ชี้ผลกระทบร้ายแรง แต่กรมศุลกากรไม่สน

(กรุงเทพฯ/9 ก.ย.57) ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พรบ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ...วาระแรกโดยเพิ่มมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อยู่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่น ตามที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ โดยมีวงเล็บ (3) กว้างๆไว้ว่า ของนั้นเป็นของที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรมนั้น
 
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า จากข้อมูลเราพบว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯจัดไทยให้อยู่ในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเลขาในที่ประชุมระบุว่า สหรัฐฯต้องการให้ไทยแก้ไขร่าง พรบ.ศุลกากร พ.ศ....ในส่วนการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจจับสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสินค้าผ่านแดนและสินค้าผ่านลำเรือ ซึ่งต้องการให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะได้ตอบสนองความต้องการสหรัฐฯก่อนที่จะมีการประเมินสถานการณ์ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า
 
“จากรายงานการประชุมเราพบว่า ผู้แทนสหนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจจับสินค้าที่สงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน หรือสินค้าผ่านลำเรือ ควรพิจารณาตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหากเป็นการละเมิดสิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้า สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่า ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือความพยายามพิเศษ แต่หากเป็นสิทธิบัตร จะไม่สามารถตรวจจับการละเมิดได้ด้วยสายตาหรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ มีความยุ่งยากและใช้เวลานาน และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันทางการค้าได้ ที่ประชุมไม่มีการนำร่างกฎหมายมาให้หน่วยงานต่างๆพิจารณา ไม่ฟังเสียงท้วงติงในประเด็นนี้ และเสนอ สนช.ไปด้วยความเร่งรีบหวังที่จะให้ประกาศใช้ก่อนหน้าที่สหรัฐจะจัดอันดับสถานการณ์ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า”
 
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติทุกคนต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ท้วงติงแล้ว แต่กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ และรอง หัวหน้า คสช. ดูเหมือนจะไม่ใส่ใจหรือไม่เข้าใจในประเด็นที่อ่อนไหวต่อการเข้าถึงยาของคนไทยและผู้ป่วยทั่วโลกเช่นนี้ หรือเป็นความจงใจที่จะเอาใจประเด็นเศรษฐกิจเพื่อให้ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปไม่กดดันประเด็นสิทธิมนุษยชน
 
“ผู้แทน อย.ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การแก้ไขร่าง พรบ.ศุลกากรนั้นควรให้อำนาจพนักงานศุลกากรในการตรวจรับการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์เท่านั้น ไม่ควรรวมการละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ และเป็นประเด็นที่จะเชื่อมโยงกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจในการตรวจและกักสินค้าเฉพาะกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าอยู่แล้ว”