2nd benefit

2nd benefit

สปส.ขยายความคุ้มครอง ตาม'ม.40'

af5kdebjb9h78aih7dccb

               สปส.ขยายความคุ้มครอง ตาม ม.40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ

               สำนักงานประกันสังคม เดินหน้าขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เริ่ม 9 ธ.ค.56 ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ถึงเดือน พ.ค.55 พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สมัคร มาตรา 40 ตั้งแต่วันนี้-8 ธ.ค.57 ส่วนทิศทางการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ปี 2557 เน้นลงทุนพันธบัตรระยะสั้น-กลาง ในประเทศเกิดใหม่ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีหนี้น้อย

               จีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.มีภารกิจให้การคุ้มครองแก่แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้มีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนของแรงงานนอกระบบได้เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันกำหนดเป็น 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 70 บาท และรัฐบาลอุดหนุน 30 บาทต่อเดือน ได้รับเงินสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ส่วนทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 100 บาท และรัฐบาลอุดหนุน 50 บาทต่อเดือน ได้รับเงินสิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 1 และเพิ่มเงินบำเหน็จกรณีชราภาพ

                "แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วจำนวน 1,539,638 คน  (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ย.56) และตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.56 เป็นต้นมา สปส. เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) ให้แก่แรงงานนอกระบบ ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยทางเลือกที่ 3 กำหนดเงินสมทบเดือนละ 200 บาท ในระยะแรกให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่ายเงินอุดหนุน 100 บาท เท่ากับมีเงินออมเดือนละ 200 บาท สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เฉพาะทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังไปถึงเดือน พ.ค.55 รัฐบาลจะร่วมจ่ายเงินอุดหนุนให้ด้วยเช่นกัน"

                นอกจากนี้ สปส. ยังเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ โอกาสดีเช่นนี้ มีระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ตั้งแต่วันนี้ - 8 ธ.ค.57 ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป จะได้รับความคุ้มครอง เฉพาะกรณีชราภาพเพียงกรณีเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้

                นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 54 ปีขึ้นไป และจ่ายเงินสมทบติดต่อกันทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 และคาดว่า จะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพในปี 2556 แยกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 108,123 ราย และมาตรา 39 จำนวน 5,238 ราย รวมจำนวน 113,361 ราย ในการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทน สปส.จะมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ประกันตนทราบสิทธิ โดยส่งหนังสือถึงสถานประกอบการเพื่อแจ้งลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีอายุ 54 ปีขึ้นไป และยังมีสภาพเป็นลูกจ้างว่า มีสิทธิในการรับบำนาญ พร้อมให้กรอกข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องเพิ่มเติม

               กรณีมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-สกุล หรือที่อยู่ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ นอกจากนี้ สปส.ได้จัดทำระบบการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เพื่อรองรับการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบเงินสมทบชราภาพได้ด้วยตนเองโดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนลงทะเบียนในระบบอินเทอร์เน็ตwww.sso.go.th

               ในการยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ผู้ประกันตนสามารถกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ ยื่นที่ สปส.กรุงเทพฯ พื้นที่ สปส.จังหวัด สปส.สาขา ทุกแห่งที่สะดวก

                ส่วนแผนการลงทุนกองทุนประกันสังคม ปี 2557 ปลัดฯ จีรศักดิ์ กล่าวว่า ณ วันที่ 30 ก.ย.56 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน 1,062,696 ล้านบาท โดย 90% ของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 11 ล้านคน ที่สำนักงานสะสมไว้ รอจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนรวม 36,200 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,165 ล้านบาท

                "ในเงินลงทุนจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาทนี้ สำนักงานนำไปลงทุนมีสัดส่วน ได้แก่ ตราสารหนี้ไทย (พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้เอกชน) 84.8% ตราสารหนี้ต่างประเทศ 2.7% ตราสารทุนไทย 8.8% การลงทุนทางเลือก (กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน) 0.8% เงินฝากธนาคารและอื่นๆ 2.9% คณะกรรมการประกันสังคมมีการประชุมในช่วงกลางเดือน ธ.ค.เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนกองทุนประกันสังคม ประจำปี 2557 ที่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนแล้ว"

                ทิศทางการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ปี 2557 คาดว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาดโลกจะอยู่ในขาขึ้น การลงทุนในพันธบัตรจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ สปส.เน้นลงทุนในพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีหนี้น้อย และเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น-กลาง

                ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2557 ไม่ค่อยสดใสนัก จากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน  สปส.จึงมีนโยบายคงสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไว้เท่าเดิมที่ 7-12% และทยอยลงทุนในหุ้นต่างประเทศสัดส่วนไม่เกิน 4% โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น

                นอกจากนี้ จะทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือก ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวโดยกระจายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ไม่เกิน 3% กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เกิน 2% กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ ไม่เกิน 1.5% ทั้งนี้ คาดว่าปี 2557 จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 45,000 ล้านบาท

                ปัจจุบันสภาวการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินกิจกรรมไปจากเดิมมาก มีการปรับโครงสร้างกระบวนการผลิตทำให้การจัดหมวดหมู่รหัสประเภทกิจการที่ใช้อยู่ไม่รองรับและไม่ละเอียดเพียงพอ  อาจไม่เหมาะสมตามสภาวการณ์หรือไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังนั้น สปส. จึงได้ปรับรหัสกิจการและอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) เพื่อทำให้การกำหนดรหัส และอัตราเงินสมทบมีความละเอียดครอบคลุม เป็นธรรมกับนายจ้างยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์ในการบริหารงานแรงงาน การจัดหางานการแนะแนวอาชีพ การคุ้มครองแรงงาน การพัฒนาอาชีพ และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ใช้มาตรฐานเดียวกัน สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกับนานาประเทศได้ในระบบสากล เพื่อให้ใช้อัตราเงินสมทบใหม่ในปี 2558

               ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

 

ที่มา:คมชัดลึกออนไลน์ สังคม-ศิลปะ-วัฒนธรรม วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2556