2nd benefit

2nd benefit

'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ไม่ขอร่วมวงแก้ไข ก.ม.บัตรทองพรุ่งนี้ เหตุผู้บริหาร สธ.เอียงข้าง รพ.ใหญ่ในเมือง

 press pic 18072017-00201

         ตามที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงนัดหารือเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในประเด็นที่ยังเห็นต่างกัน คือ การแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และสัดส่วนคณะกรรมการ โดยทาง นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ได้นัดประชุมเวลาบ่ายวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.60) นั้น

         น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯ คงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหาร สธ.ยังยืนยันที่จะให้ตัวแทน รพ.ขนาดใหญ่ และ รพ.ขนาดเล็กบางส่วนที่สนับสนุนการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเข้าร่วมประชุม แต่ไม่รับข้อเสนอของทางกลุ่มฯ ที่ให้เชิญตัวแทน รพ.ในชนบท ที่จะได้รับผลกระทบจากการแยกเงินเดือนครั้งนี้เข้าร่วมประชุมด้วย

         "เราขอบคุณรัฐมนตรี สธ.ที่พยายามแก้ไขความเห็นต่างด้วยการให้ความสำคัญของการพูดคุยกันโดยใช้ข้อมูลความรู้และงานวิจัยต่างๆ เพื่อหาทางออกของการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในขณะนี้ แต่จากสัดส่วนองค์ประชุมที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.แจ้งมา ว่าตัวแทน สธ.จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภาคกลาง 2 แห่ง และอาจเพิ่มโรงพยาบาลขนาดเล็กในภาคกลางเข้าร่วมเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจข้อท้วงติงของทางกลุ่มฯ ที่ขอให้เชิญตัวแทนของโรงพยาบาลในชนบททางภาคอีสาน หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะได้รับผลกระทบจากการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวมาเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งที่โรงพยาบาลในชนบทเหล่านี้ก็อยู่ในสังกัด สธ. เช่นเดียวกัน และจะกระทบกับการจ้างลูกจ้างพยาบาลและสหวิชาชีพ จนส่งผลต่อการดูแลประชาชนในชนบทในที่สุด"

         "แม้รัฐมนตรีจะเจตนาดีให้มีการพูดคุย หารือเพื่อหาทางออก แต่เจ้าหน้าที่ สธ.ยังคงเดินย้ำรอยเดิม เอาคนเดิมๆเข้ามาคุย ข้อสรุปคงไม่เปลี่ยน จึงเชื่อได้ว่าเจตนารมณ์รัฐมนตรีคงเป็นหมัน" โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวย้ำ

 

         ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยังพร้อมที่จะหารือด้วยเหตุด้วยผล และ ใช้ข้อมูลการศึกษาและงานวิจัยต่างๆ เพื่อแก้ไขกฎหมายบัตรทองให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่ควรเป็นขณะนี้คือ ต้องแก้เฉพาะในประเด็นที่เป็นไปตามคำสั่ง มาตรา 44 ที่ 37/2559 และให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตามที่ได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอด 10 กว่าปีมานี้ได้เท่านั้น

         ส่วนประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการนั้น เป็นประเด็นที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหาวิกฤติกำลังคน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ยังไม่พึงนำมาพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้

 

         ทางด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดกับ รพ.ในชนบท ทั้งที่นี่จะเป็นมหาวิกฤตสาธารณสุขครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นจากนโยบายของผู้บริหารชุดนี้

         "ขอประกาศจุดยืนว่า เงินเดือนต้องอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัวไม่สามารถแยกได้ เพราะหากแยกออกไปแล้วโรงพยาบาลในเมืองก็จะไม่เกิดสำนึกทางการเงิน เวลาใครขอย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง เมืองก็จะรับทันทีเพราะไม่ต้องจ่ายเงินอะไร แต่ถ้ายังรวมอยู่ในรายหัวเหมือนเดิม โรงพยาบาลเมืองก็จะประเมินแล้วว่าคนของตัวเองเยอะเกิน อาจจะไม่รับเพิ่มดีกว่า ตรงนี้จะเป็นแรงช่วยดันไว้ช่วยชะลอไม่ให้แพทย์ไหลจากชนบทไปสู่เมืองได้เร็วขึ้น การกระจายบุคลากรจะไม่เกิด แต่จะเกิดการกระจุกตัวในเขตเมือง ในชนบทจะยิ่งขาดแคลนบุคลากรมากขึ้น เงินงบประมาณด้านสุขภาพของภาคอีสานและตะวันตกจะแย่ลง คุณภาพบริการก็จะแย่ตามไปด้วย ประเด็นทางการเมืองจะตามมา และเท่ากับผู้บริหาร สธ.ผลักมิตรให้เป็นศัตรูกับรัฐบาลนี้" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

421187

421188