2nd benefit

2nd benefit

จี้! ประกันสังคม ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้าย สิทธิประโยชน์ไม่เอื้อกับผู้ประกันตน

news health service 250859 web01

วันที่  25  สิงหาคม 2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน    คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ  ได้เข้ายื่นหนังสือกับม.ล. ปุณฑริก  สมิติ  ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางชลอลักษณ์ แก้วพวง   ผู้อำนวยการ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์  กรณีการออกประกาศคณะกรรมการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากทำงาน ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2559 โดยมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าบริการได้ตามความเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี  โดยมีเงื่อนไขการอัตราค่าบริการแนบท้ายประกาศดังนี้  1. ค่าขูดหินปูนทั้งปาก จำนวน 400 บาท  2. ค่าอุดฟันด้วยวัสดุ Amalgam จำนวน  1 ด้าน   300 บาท , จำนวน 2 ด้าน  450 บาท 3. อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน (ฟันหน้า  350 บาท ) (ฟันหลัง 400 บาท)  2 ด้าน (ฟันหน้า 400 บาท ) (ฟันหลัง  500)   4. ถอนฟัน (ฟันแท้)  250 บาท  ถอนฟันที่ยาก  450 บาท  5. ผ่าฟันคุด    900 บาท    ซึ่งภาคีเครือข่ายมีความกังวลอย่างมากว่าประกาศฉบับนี้จะทำให้เกิดข้อจำกัดในสิทธิการรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน รวมถึงสร้างความสับสนในแนวทางปฏิบัติในวงกว้าง จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศแนบท้ายฉบับดังกล่าว 

news health service 250859 web02

 นายมานัส  โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)กล่าวว่า ประกาศแนบท้ายของคณะกรรมการการแพทย์ ณ  วันที่ 7 มีนาคม 2559  เป็นการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนให้ด้อยกว่าสิทธิเดิม คือ แต่เดิมผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์เรื่องทันตกรรมซึ่งกำหนดไว้ 2 ครั้งต่อปี ไม่เกิน 600 บาท แต่เงื่อนไขประกาศแนบท้ายฉบับนี้มีเพดานในการเบิกค่าบริการในแต่ละรายการจึงทำให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายส่วนต่างจากการเข้ารับบริการ อาทิ การถอนฟัน เพดานกำหนดไว้ 250 บาท ฉะนั้นหากผู้ประกันตนไปรับบริการแล้วเสียค่าบริการ 500 บาท ต้องจ่ายส่วนต่าง 250 บาท และเบิกคืนจากประกันสังคมได้เพียง 250 บาท ซึ่งเป็นการทอนสิทธิเดิมลงมา

            “ภาคีเครือข่ายมีความเห็นร่วมกันว่าประกาศแนบท้ายมีผลตามแนวทางการปฏิบัติจริง จึงขอให้ยกเลิกประกาศแนบท้ายดังกล่าว โดยคงสิทธิประโยชน์ไม่เกิน 900 บาทต่อปี โดยไม่มีเพดานกำหนดราคาค่าบริการตามตารางแนบท้าย เว้นแต่มีการศึกษาราคากลางที่เป็นธรรม และเป็นจริงทั้งสองฝ่าย  ทั้งนี้สำหรับผู้ประกันตนที่สามารถชะลอการรักษาออกไปได้ แนะนำให้ไปใช้สิทธิการรักษาหรือให้เก็บใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำไปเบิกตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าวหลังจากมีการแก้ไขประกาศแนบท้ายแล้ว”  ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)กล่าว

news health service 250859 web03       

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงฯ เห็นความสำคัญของผู้ประกันตน และมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์มาโดยตลอด แต่อาจมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาล่าช้า เนื่องจากมีหลายส่วนงานที่ต้องร่วมกันพิจารณา และหากข้อปฏิบัตินี้ส่งผลกระทบผู้ประกันตนจำนวนมากทางกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมขอรับไปพิจารณาร่วมกันก่อน

“ทางกระทรวงฯ และสำนักงานประกันสังคมจะขอนัดประชุมเพื่อพิจารณาในวาระเร่งด่วนกับคณะกรรมการการแพทย์ก่อนภายใน 60 วันนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในวงกว้าง และเป็นการทบทวนประกาศดังกล่าวด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

 

 

ทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนดังนี้

       1. ขอให้ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้ายของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยคงสิทธิการเบิกค่าบริการเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาท ต่อปีไว้ดังเดิมเพื่อให้ไม่มีเพดานในการเบิกค่าบริการในแต่ละรายการ

       2. ให้สำนักงานประกันสังคม สร้างระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตนระบบการเช็คสิทธิการรักษาพยาบาลและระบบการเบิกจ่ายค่าบริการทางทันตกรรมที่ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย (ระบบเบิกจ่ายตรง) ที่มีประสิทธิภาพภายใน 1 ปี โดยปรับปรุงแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ให้มีความคล่องตัว รวดเร็วและสะดวกต่อทั้งสถานบริการและผู้รับบริการ

       3. ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลเอกชนเพื่อดึงสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงกับสำนักงานประกันสังคมให้มากขึ้น รวมถึงทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ใช้บริการทั้งในสถานพยาบาลเอกชน และสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถเบิกค่าบริการตามสิทธิได้โดยไม่ต้องสำรอง

       4. จัดให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิทธิ และแนวทางการปฏิบัติในกรณีการรักษาทางทันตกรรมที่ได้รับการแก้ไขแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบวิชาชีพทางทันตกรรมอย่างกว้างขาวงและต่อเนื่อง