2nd benefit

2nd benefit

'หนึ่งในผู้ที่สิทธิร่วมลงคะแนนคัดเลือกกรรมการ สปสช. โต้หมอเชิดชู ไม่มีการบล็อคโหวต ขณะที่ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแฉ มีแก๊งค์สร้างกระแสใช้ ม.44 เล่นงาน'

PongsapatHongsuksawad-001
นายพงษภัทร หงษ์สุขสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ที่มีสิทธิร่วมลงคะแนนคัดเลือกกรรมการ สปสช. เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 58 ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวหลังอ่านบทความของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่เผยแพร่มีข้อความกล่าวหาภาคประชาชนว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกลงคะแนนเสียงให้พวกตัวเอง (block vote) ส่งผลให้ประเทศชาติเสียหาย มีการคัดสรรบุคคลเวียนเทียนในวงจำกัด ไม่ตรงความเชี่ยวชาญที่กำหนด และเอื้อการทำงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและผิดกฎหมาย

โดยนายพงษภัทร กล่าวว่าต้องขอขอบคุณ พญ.เชิดชูที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ หากเจตนาจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพก็ขอให้ตรวจสอบฝ่ายวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิบางกลุ่มด้วย

“ดูจากการกระทำของพญ.เชิดชูแล้วอดคิดไม่ได้จริงๆ ทีพวกเดียวกันมองไม่เห็นแต่พอเป็นฝ่ายตรงข้ามปุ๊บเห็นขึ้นมาทันที ไม่ทราบว่าพญ.เชิดชูเอาอะไรมาตัดสินว่ากระบวนการในการสรรหาของ สปสช. ไม่โปร่งใสจริงๆ เพราะคนที่ประชาชนเค้าเลือกเข้าไปเป็นคนที่จะเข้าไปขัดผลประโยชน์ของตัวเองหรือเปล่า” นายพงษภัทร กล่าว

ทั้งนี้จากรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งบอร์ด สปสช. พบว่า ฝ่ายวิชาชีพก็มีการวนเวียนดำรงตำแหน่งในวงจำกัดเช่นกัน อาทิเช่น ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการหลัก วาระที่ 1-2 และดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 3-4, รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ดำรงตำแหน่งกรรมการหลัก วาระที่ 1, 3, 4 และดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 2 และ รศ.พรจันทร์ สุวรรณชาติ ดำรงตำแหน่งกรรมการควบคุม วาระที่ 1, 2, 4 ฯลฯ

list-001

นายพงษ์ภัทรย้ำว่า สปสช. ได้มีการเปิดกว้างประชาสัมพันธ์ให้ทุกองค์กรขึ้นทะเบียนองค์กรเข้ามาคัดเลือก, ผู้แทนองค์กรที่ส่งมาคัดเลือกต้องเป็นกรรมการขององค์กรเท่านั้น, สปสช. จะทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการขึ้นทะเบียน ในกรณีเอกสารไม่ครบให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ภายใน 1 สัปดาห์ และกรณีผู้แทนที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเคยเป็นบอร์ดมาแล้วติดต่อกัน 2 วาระก็ต้องถูกยกเลิกไปเพราะผิดกฎหมายและต้องมีผู้แทนองค์กรในที่ประชุมรับรองอย่างน้อย 5 คน

นายพงษภัทร ยืนยันว่า เรื่องการบล๊อคโหวตไม่มีแน่นอนเพราะการคัดเลือกใครต้องดูที่ผลงาน ไม่ว่าจะเป็น น.ส.สารี อ๋องสมหวัง นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ดร.ยุพดี ศิริสินสุข เคยเป็นบอร์ดมาเมื่อสมัยที่เพิ่งหมดวาระไปและได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาสามารถเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้แทนองค์กรทั้ง 9 ด้านจะพร้อมใจเลือก

“การที่ผมลุกขึ้นเดือนร้อนแทนตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ใช่ผมมีผลประโยชน์แน่ เพราะผมคือคนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองคนหนึ่ง ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบของผมและเป็นของคนไทยทุกคน ดังนั้นผมก็อยากเห็นระบบหลักประกันนี้พัฒนาให้ดีขึ้นไป” นายพงษภัทร กล่าว

นอกจากนี้ การที่บางองค์กรมีที่อยู่เดียวกันนั้น เป็นเพราะมาจากกลุ่ม อสม.ที่ใช้ที่อยู่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ทำงานอยู่ด้วยกัน

ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนที่เอาไปอวดประชาคมโลกได้อย่างที่นายกฯประยุทธ์ไปนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ แต่ตอนนี้มีบุคคลบางกลุ่มกำลังสร้างกระแสเพื่อกดดันให้ หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 เพื่อบ่อนทำลาบระบบหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้นายกฯหนักแน่นและใช้ข้อมูลความรู้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมที่สุด

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: สปสช.