2nd benefit

2nd benefit

3 กองทุนสุขภาพ แยกดีหรือยุบรวม

sqxUlVtnZ

สวัสดิการรักษาพยาบาล 3 กองทุนยังเหลื่อมล้ำ ข้าราชการ...ประกันสังคม...หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในอนาคตจะเกลี่ยเฉลี่ยทุกข์...สุขให้เหมือนๆกันได้หรือไม่?

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าสามกองทุนสิทธิประโยชน์ต่างกัน...ที่มาที่ไปก็ต่างกัน สวัสดิการข้าราชการให้มากหน่อยถึงครอบครัวด้วยเพราะถือว่าเงินเดือนน้อย ประกันสังคมก็อีกแบบหนึ่ง...รัฐ ผู้ประกอบการ พนักงาน ร่วมกันลงเงินส่งเข้ากองทุน

ส่วน สปสช. ก็เป็นสวัสดิการที่มาจากเงินภาษีประชาชน

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า รัฐบาลปัจจุบันตั้งกรรมการประสาน 3 กองทุน ตั้งใจจะให้มีความแตกต่างกันให้น้อยๆ ปัญหาคือที่มาที่ไปและวิธีการจัดการที่ต่างกัน

“สมัยก่อนช่วงมี สปสช. ตอนมี 30 บาทใหม่ๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุนที่แย่ที่สุด แย่กว่าประกันสังคม แต่ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วจริงๆ...ก็มีจุดอ่อน จุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน”

มีผู้ตั้งประเด็นว่า...การมีกองทุนหลายกองทุน แล้วมีการบริหารแยกกันอาจจะเกิดการแข่งขันกันก็ได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ...ถ้าเราจะให้กองทุนทั้ง 3 มีความแตกต่างกันน้อยๆ อะไร?...คือวิธีการที่จะทำให้เป็นเช่นนั้น

“ประกันสุขภาพ”...ข้าราชการใช้วิธีการจ่ายโรงพยาบาลด้วยการบอกว่าโรงพยาบาลให้บริการอะไรก็สามารถมาเบิกคืนได้ ภาษาเทคนิคเรียกว่า “เบิกคืนย้อนหลัง” แต่พอมี...“ประกันสังคม” มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาช่วยวางระบบคิดออกแบบ เขาก็บอกว่าวิธีการจ่ายเท่าที่โรงพยาบาลให้บริการคือวิธีการที่จะคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้

สักพักเงินที่มีอยู่ก็จะบริการได้น้อย ถ้าไม่พอจะต้องเพิ่มเบี้ยไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะเดือดร้อน

...ก็เลยใช้วิธีการบริหาร หลายประเทศทำมาแล้ว มีประสบการณ์ ใช้วิธีการเหมาจ่ายดีกว่าเบิกตามที่ให้บริการ สักพักก็มีคนบอกว่าทำไมไม่ทำให้ข้าราชการเป็นระบบเหมาจ่าย...ก็บอกว่าไม่ได้นะ บริการจะไม่ดี คุณภาพจะไม่ดี เงินเดือนน้อยอยู่แล้ว เป็นสิทธิของฉันนะ สะท้อนว่า...อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้ “ได้ประโยชน์”...ใกล้เคียงกัน

มองในมุมโรงพยาบาลผู้ให้บริการ...อัตราการจ่ายที่ไม่เหมือนกัน กองทุนหนึ่งเงินที่ซื้อบริการอาจจะให้น้อยจังเลยเมื่อเทียบกับอีกที่หนึ่ง แล้วอีกที่ก็ใจกว้างจังจ่ายค่าบริการให้เต็มที่...ถ้าจะให้มาใช้เหมาจ่ายระบบเดียวกัน โรงพยาบาลก็จะเกร็งมาก อาจจะได้เงินโดยรวมน้อยลง กลายเป็นปฏิกิริยานิดหน่อย

มองในมุมประเทศชาติ ประชาชนก็ต้องเอาระบบที่ดีที่สุด ขณะนี้แนวโน้มก็จะเป็นอย่างนี้ พยายามพัฒนากองทุนซึ่งคิดว่าอยู่ในสภาพที่แย่กว่าให้ดีขึ้นให้ได้ เพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นให้ได้จะได้ไล่ทันกัน ...ไม่ใช่ว่าดึงกองทุนที่ดีๆอยู่แล้วให้ลดลงมา รวมไปถึงไม่ให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละกองทุนโตเร็วเกิน ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง

“เวลาบอกว่าสิทธิเหมือนกัน บางทีมีอีกมุมหนึ่งน่าสนใจมาก เราทำให้เหมือนกันเพราะไม่อยากให้มีความฟุ่มเฟือย บางแห่ง...เหมือนมีสิทธิมากกว่าแต่ไปใช้เงินกับของที่ไม่จำเป็นอยู่จำนวนหนึ่ง หากทำให้เหมือนกันก็จะได้เพิ่มในสิ่งที่เรียกว่าเวลูออฟมันนี่...ทำให้เงินมีประโยชน์ได้มากขึ้น”

ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ ในทางกลับกันก็ทำให้เงินที่มีอยู่สามารถที่จะใช้ให้ครบในของที่จำเป็น

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ ให้ข้อมูลอีกว่า หากการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานใกล้เคียงกัน โรคบางอย่างทำให้เหมือนกัน ได้รับการดูแลเหมือนกัน ในเรื่อง “อุบัติเหตุ” กับ “โรคเอดส์” จะได้รับยาต้านไวรัสเท่าเทียมกัน กำลังค่อยๆคุยกันถึง...โรคมะเร็ง โรคไต จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายคลึงกันโดยเฉพาะโรคที่พบได้บ่อย

อีกอย่างที่พยายามทำให้การเบิกจ่าย การเข้าสู่สิทธิ การเปลี่ยนสิทธิ สะดวกขึ้นกับประชาชน สิทธิเปลี่ยน...ถ้าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็อาจจะต้องไปอยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะไปสมัครข้าราชการก็อาจจะได้สิทธิข้าราชการ

ปัญหา...อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ระหว่างนี้บางทีใช้เวลาในการรับรู้สิทธิที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดปัญหา

สิ่งที่จะเกิดขึ้นพระราชกฤษฎีกาตั้งสำนักงานมาตรฐานข้อมูลการบริการสุขภาพที่จะทำให้เกิดการดูแลเรื่องการเบิกจ่ายทั้ง 3 กองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและจะเป็นคลังข้อมูลในการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการใช้การรักษาพยาบาลไปหนักตรงไหน เบาตรงไหน สามารถจะมีข้อมูลที่ไปใช้ปรับระบบได้ทั้ง 3 ระบบ

ถึงตรงนี้คงต้องมองถึงภาพใหญ่ “ระบบบริการสาธารณสุขไทย” ก็เหมือนกับหลายๆประเทศที่มีประกันสุขภาพ จะมีผู้เล่นใหญ่อยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือ...กลุ่มผู้ซื้อบริการ ตอนนี้เรามี 3 กองทุนเป็นผู้ซื้อบริการ กลุ่มที่สอง...กลุ่มผู้ให้บริการ ก็มีทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย เอกชน ท้องถิ่นก็เริ่มมีบ้าง

กลุ่มที่สาม...สำคัญมากก็คือผู้ดูแลนโยบายภาพรวมของประเทศ ก็ต้องดูแลว่ามีหลักประกันอย่างเดียวพอไหม หรือต้องมีอย่างอื่น อุตสาหกรรมต่างๆกระทบสุขภาพประชาชนหรือเปล่า?

กระทรวงสาธารณสุข มี 2 ใน 3 บทบาท เป็นผู้ให้บริการด้วย เป็นผู้ดูแลภาพรวมด้วย บทบาทการดูแลภาพรวมที่ผ่านมาถือว่ามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะกระทรวงฯก็มัวแต่ให้ความใส่ใจกับการดูแลประชาชน

นายแพทย์สมศักดิ์ ย้ำว่า สมัยก่อนเวลากระทรวงฯจะแสดงบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนภาพรวม ก็ตั้งงบประมาณ พูดง่ายๆก็คืออยากให้อะไรดีขึ้นก็ตั้งงบประมาณแล้วก็เป็นคนใช้ผ่านกระทรวงสาธารณสุข พอมีระบบหลักประกันสุขภาพ ความคิดก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่อีกแล้ว

“...เงินรัฐบาล หรือเงินหลวงที่จะใช้เพื่อสุขภาพ ควรจะมาอยู่ที่หน่วยซื้อบริการและกระทรวงสาธารณสุขก็ทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยซื้อบริการกับผู้ให้บริการ”

ฉะนั้น “กระทรวงสาธารณสุข” ก็ต้องแยกตัวเองออกมาจากผู้ให้บริการของตัวเอง ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ...แยกไม่ขาด เป็นห่วงโรงพยาบาลกระทรวงฯ ซึ่งก็ต้องห่วงเพราะเป็นส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขประเทศ

“วันนี้...คนที่จะมาช่วยจัดการก็คือคนที่ซื้อบริการ กระทรวงฯก็ต้องคอยตามมาดูว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ถ้าดึงเงินมาบริหารเองก็จะไม่ใช่แล้ว ยิ่งบริหารเองก็ยิ่งเป็นห่วงของตัวเอง...แม้กระทั่งมาบริหารเงินหน่วยบริการ

ตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่คนอื่นไม่มีส่วนร่วม...หน่วยบริการข้างในที่หลากหลายก็จะขาดโอกาส”

บทบาทใหม่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขแยกตัวเองออกมาทำหน้าที่บริหาร ตรวจสอบอย่างเดียว ในฐานะ “ผู้ดูแลระบบ” กำหนดยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ระบบสุขภาพคนไทย

หมายถึงว่า...กองทุนควรต้องมี 3 ระบบไหม แล้วกองไหนมีปัญหามากกว่ากัน เราลงทุนมากหรือน้อยไปไหม เราควรจะปล่อยให้ชาวบ้านมีภาระในการซื้อบริการ จ่ายเงินหรือเปล่า?

อีกมุมที่ต้องทำแน่ๆ...สิ่งที่เป็นปัจจัยกระทบต่อสุขภาพ เช่น ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องติดตาม เฝ้าระวัง ทำงานเชิงรุก วางยุทธศาสตร์ให้เท่าทันปัญหา สร้างเสริมสุขภาพ...

ป้องกันดีกว่าแก้ไข เพื่อให้คนไทยต่อสู้กับสารพัดโรคเรื้อรังสมัยใหม่ได้

ถ้าแก้ที่ปลายเหตุ...รอป่วยแล้วรักษา ยังมัวพึ่งโรงพยาบาล พึ่งยา พึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียว ต้องใช้งบมหาศาล “ระบบบริการสาธารณสุขไทย”...ก็คงไปไม่รอด.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  25 มี.ค. 2558 05:01

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|