2nd benefit

2nd benefit

เสนอ สธ.-สปสช. จับมือตั้งกองทุนสุขภาพชายแดนแก้ปัญหา รพ.อุ้มผางและ รพ.ชายแดน

154456

กก.มูลนิธิรพ.อุ้มผาง วอนหยุดใช้เจตนาบริสุทธิ์ของแพทย์เป็นเครื่องมือสร้างสงครามจิตวิทยา เข้าใจ ผอ.รพ.อุ้มผางกดดันจากปัญหาที่เผชิญอยู่ ชี้สถานการณ์รพ.อุ้มผาง เป็นพื้นที่พิเศษ เหตุประชากรกว่าครึ่งไม่มีสิทธิประกันสุขภาพ ต้องเป็นโจทย์ร่วมของสธ. สปสช. และองค์กรระหว่างประเทศ แก้ไขด้วยกัน เสนอตั้งกองทุนสุขภาพชายแดนแก้ปัญหา

13 ธ.ค.57 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวกรณี ผอ.รพ.อุ้มผาง ส่งจดหมายถึง สสจ.จังหวัดตากวิพากษ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ‘ใจดำ ขาดสติ ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์’ โดยระบุว่า ปัญหาความทุกข์ยากในการรักษาพยาบาลของรพ.อุ้มผางนั้น ส่วนสำคัญมาจากมีประชากรกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพใดๆ ดังนั้น การแก้ปัญหารพ.ที่ต้องเผชิญปัญหาในลักษณะนี้ จึงไม่สามารถใช้วิธีปกติในการจัดการได้ แต่ต้องเป็นโจทย์ร่วมของ สธ. สปสช. มูลนิธิรพ.อุ้มผาง และองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ไข จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความรู้สึก และเสนอให้ สธ.และสปสช.ตั้งกองทุนสุขภาพชายแดนเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมทั้งระบบ ดีกว่าโยนภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นนี้

นอกจากนั้น นส.กรรณิการ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ผอ.รพ.อุ้มผาง เขียนจดหมายดังกล่าวออกมาก็เนื่องมาจากความกดดันที่เผชิญอยู่ และเขียนส่งให้นพ.สสจ.ตากในช่วงปลายเดือน พ.ย.เป็นการสื่อสารภายในเพื่อสะท้อนปัญหาของรพ.อุ้มผาง แต่เหตุใดในวันอังคารที่ 9 ธ.ค.จึงมีคำร้องขอไปยังผอ.รพ.อุ้มผางให้พิมพ์และส่งอีเมลให้นพ.สสจ.ตากอีกครั้ง และต่อมาก็พบว่า จดหมายดังกล่าวก็ถูกกระจายออกไป และสื่อมวลชนทราบเรื่อง เช่นนี้ถือว่าเป็นการหาประโยชน์จากเจตนาบริสุทธิ์ของแพทย์ดีๆคนหนึ่งหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้หยุดใช้จดหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือสร้างกระแสทำสงครามจิตวิทยาได้แล้ว

โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

"ปัญหาความทุกข์ยากในการบริหารโรงพยาบาลอุ้มผางให้บรรลุภารกิจในการดูแลประชากรที่มารับบริการในโรงพยาบาลซึ่งมีทั้งคนไทยที่มีบัตรทอง ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่กองทุนคนไร้สถานะของสธ.ดูแลอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่มารับบริการโดยที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล อันได้แก่ กลุ่มคนไร้รัฐที่มีถิ่นฐานอาศัยในเขตประเทศไทย แต่ไม่ได้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารับบริการที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลต้องดูแลด้วยมนุษยธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาระหนี้อย่างหนักหน่วงนั้นมีอยู่จริง

การแก้ปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาลอุ้มผางและโรงพยาบาลชายแดนจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันนี้นั้น เป็นประเด็นที่ต้องการการจัดการเฉพาะกรณี ไม่สามารถใช้วิธีปกติในการดูแลได้ และควรที่จะเป็นโจทย์ร่วมของทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯ ซึ่งอาจรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ จึงไม่ควรโยนภาระการแก้ปัญหาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เป็นแพทย์และผู้อำนวยการที่ดี มีความซื่อตรงและสุภาพ การที่ นพ.วรวิทย์ เขียนจดหมายดังกล่าวออกมา แสดงถึงความกดดันที่มีจำนวนมาก ทั้งจากภาระหนี้สินภายในโรงพยาบาล และแรงหนุนให้แสดงออกจากภายนอก จดหมายนี้ นพ.วรวิทย์เขียนให้กับ สสจ.ตากตั้งแต่ปลายเดือน พย. เป็นการสื่อสารภายในเพื่อสะท้อนปัญหาของโรงพยาบาลอุ้มผาง แต่เหตุใดจึงมีคำร้องขอไปยัง ผอ.รพ.อุ้มผางให้พิมพ์และส่งเป็นอีเมล์ให้ สสจ.อีกครั้งในวันอังคารที่ผ่านมา และต่อมาก็พบว่า จดหมายดังกล่าวถูกกระจายไปยังสื่อมวลชน การที่มีคนเอาจดหมายมาปล่อยเช่นนี้ จึงเป็นเพียงการหาประโยชน์จากเจตนาบริสุทธิ์จากแพทย์ดีๆ คนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น ดังนั้น ขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว หยุดใช้จดหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกระพือสร้างกระแสเพื่อทำสงครามจิตวิทยากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าในฐานะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ขอให้แยกแยะข้อเท็จจริงกับปัญหาด้านความรู้สึก สำหรับข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลอุ้มผางมีสถานะเงินบำรุงเข้าขั้นวิกฤตนั้น เป็นผลจากการทับถมปัญหามาอย่างยาวนาน หาก สปสช.และ สธ.ได้ร่วมประชุมกับโรงพยาบาลชายแดนร่วมมือและหาทางออก อาทิ เช่นการตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน ส่วนหนึ่งจาก สปสช.ที่ควรสนับสนุนงบรายปีเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลชายแดนแบบที่ไม่ต้องร้องขอรายครั้ง, ส่วนหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่มักจะมีงบประมาณที่เหลือในช่วงสิ้นปี และขอเสนอให้ทางรัฐบาลเชื้อเชิญองค์กรด้านสังคมและสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างประเทศมาหารือเพื่อขอความสนับสนุนในกองทุนสุขภาพชายแดนนี้

ขณะเดียวกันทางมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯ ก็ดำเนินโครงการหาทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ทำมาโดยตลอดแต่ยังไม่สามารถครอบคลุมภาวะขาดทุนทั้งหมด"