2nd benefit

2nd benefit

หยุดสงครามจิตวิทยา แยกแยะข้อเท็จจริง 'รพ.อุ้มผาง'

news img 407201 1
ปัญหาความทุกข์ยากในการบริหารโรงพยาบาลอุ้มผางให้บรรลุภารกิจในการดูแลประชากรที่มารับบริการในโรงพยาบาลซึ่งมีทั้งคนไทยที่มีบัตรทอง กลุ่มคนไร้รัฐที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่มารับบริการโดยที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล อันได้แก่ กลุ่มคนไร้รัฐที่มีถิ่นฐานอาศัยในเขตประเทศไทย แต่ไม่ได้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารับบริการที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลต้องดูแลด้วยมนุษยธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาระหนี้อย่างหนักหน่วงนั้นมีอยู่จริง

การแก้ปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาลอุ้มผางและโรงพยาบาลชายแดนจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันนี้นั้น เป็นประเด็นที่ต้องการการจัดการเฉพาะกรณี ไม่สามารถใช้วิธีปกติในการดูแลได้ และควรที่จะเป็นโจทย์ร่วมของทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯ ซึ่งอาจรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ จึงไม่ควรโยนภาระการแก้ปัญหาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เป็นแพทย์และผู้อำนวยการที่ดี มีความซื่อตรงและสุภาพ การที่ นพ.วรวิทย์ เขียนจดหมายดังกล่าวออกมา แสดงถึงความกดดันที่มีจำนวนมาก ทั้งจากภาระหนี้สินภายในโรงพยาบาล และแรงหนุนให้แสดงออกจากภายนอก จดหมายนี้ นพ.วรวิทย์เขียนให้กับ สสจ.ตากตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. เป็นการสื่อสารภายในเพื่อสะท้อนปัญหาของโรงพยาบาลอุ้มผาง แต่เหตุใดจึงมีคำร้องขอไปยัง ผอ.รพ.อุ้มผางให้พิมพ์และส่งเป็นอีเมล์ให้ สสจ.อีกครั้งในวันอังคารที่ผ่านมา และต่อมาก็พบว่า จดหมายดังกล่าวถูกกระจายไปยังสื่อมวลชน การที่มีคนเอาจดหมายมาปล่อยเช่นนี้ จึงเป็นเพียงการหาประโยชน์จากเจตนาบริสุทธิ์จากแพทย์ดีๆ คนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น ดังนั้น ขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว หยุดใช้จดหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกระพือสร้างกระแสเพื่อทำสงครามจิตวิทยา

ทั้งนี้ ดิฉันในฐานะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ขอให้แยกแยะข้อเท็จจริงกับปัญหาด้านความรู้สึก สำหรับข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลอุ้มผางมีสถานะเงินบำรุงเข้าขั้นวิกฤตนั้น เป็นผลจากการทับถมปัญหามาอย่างยาวนาน หาก สปสช.และ สธ.จับมือทำงานร่วมกันอย่างจริงใจร่วมประชุมกับโรงพยาบาลชายแดนหาทางออกร่วมกันและเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วม อาทิ การตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน ส่วนหนึ่งจาก สปสช.ที่ควรสนับสนุนงบรายปีเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลชายแดนแบบที่ไม่ต้องร้องขอรายครั้ง, ส่วนหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่มักจะมีงบประมาณที่เหลือในช่วงสิ้นปี และขอเสนอให้ทางรัฐบาลเชื้อเชิญองค์กรด้านสังคมและสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างประเทศมาหารือเพื่อขอความสนับสนุนในกองทุนสุขภาพชายแดนนี้

ขณะเดียวกันทางมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางฯก็จะดำเนินโครงการหาทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯทำมาโดยตลอดแต่ยังไม่สามารถครอบคลุมภาวะขาดทุนทั้งหมด

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม
12 ธ.ค.57

 

ภาพประกอบ : กรุงเทพธุรกิจ