2nd benefit

2nd benefit

องค์กรผู้บริโภค ตอบโต้กรมการค้าภายใน แจ้งราคายาออนไลน์ ไม่แก้ปัญหายาราคาแพง ต้องสร้างการมีส่วนร่วม


611211 news2
องค์กรผู้บริโภค ตอบโต้กรมการค้าภายใน แจ้งราคายาออนไลน์ ไม่แก้ปัญหายาราคาแพง หยุดฟังเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ต้องให้ผู้บริโภค ผู้ป่วย และครอบครัวที่เดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาลแพง มีส่วนร่วม



สืบเนื่องจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ปฏิเสธที่จะควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่ราคาสูงเกินจริง แต่แก้ปัญหาด้วยการเผยแพร่ราคาผ่านเว็บไซต์โดยอ้างว่าให้ประชาชนเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ เริ่มปีหน้า

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองภาคประชาชน(คอบช.) เห็นว่า วิธีการแจ้งราคาทางเวปไซท์ ไม่ได้แก้ปัญหายาแพง ค่ารักษาพยาบาลแพง แต่ชัดเจนว่ากรมการค้าภายในไม่ยอมทำหน้าที่ตนเองตามกฎหมาย แถมเริ่มต้นผิดที่อาศัยโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ต้องการให้ควบคุมราคายาและกำกับค่ารักษาพยาบาล

“การควบคุมกำกับค่ายา ค่ารักษาพยาบาลแพงต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องร้องขอให้ลดราคาหรือแจ้งราคา แต่เป็นบทบาทของกรมการค้าภายในที่ต้องควบคุมและกำกับราคาให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค อนุกรรมการ ได้เสนอให้ใช้ราคากลางของยาและค่าบริการจากการแพทย์ฉุกเฉินที่มีราคาต้นทุนอยู่แล้ว โดยกรมสามารถควบคุมจากราคาต้นทุนนั้นได้ เพราะเป็นราคาที่โรงพยาบาลเอกชนยอมรับ มีกำไร ถึงแม้จะไม่ใช่กำไรสูงสุด

กรมการค้าภายใน จะต้องสนับสนุนให้การพิจารณาเรื่องนี้ มีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค ผู้ป่วย และผู้เสียหายจากค่าบริการทางการแพทย์ราคาแพง เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้มีส่วนได้เสียคือโรงพยาบาลเอกชนร่วมกำหนดฝ่ายเดียวและเป็นฝ่ายที่ไม่ได้ต้องการให้มีการควบคุมและกำกับราคาอยู่แล้ว”

ซึ่งที่ผ่านมาอนุกรรมการด้านบริการสาธารณสุข คอบช. องค์กรผู้บริโภค เสนอให้กรมการค้าภายใน ควบคุมกำกับค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องการกำหนดให้เป็น “สินค้าและบริการควบคุม” โดยต้องควบคุมราคายา ควบคุมค่าวัสดุที่จำเป็น และควบคุมกำกับค่าวิชาชีพ และยืนยันว่า การควบคุมกำกับราคายา ไม่ได้เกี่ยวกับบังคับให้บริษัทยาต้องจำหน่ายยาให้โรงพยาบาลเอกชนเท่ากับโรงพยาบาลรัฐ และไม่ได้เกี่ยวกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาและการรักษาในอนาคต

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่กรมฯอ้างเหตุผลที่สั่งลดราคาไม่ได้ เพราะเหตุต้นทุนยาแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและไม่น่าจะเป็นจริง เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชน มีไม่กี่กลุ่ม ที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมีน้อยมาก แถมโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีบริษัทยาเป็นของตัวเอง การกำกับเรื่องราคายาทำได้ไม่ยาก เช่น ห้ามโรงพยาบาลเอกชนขายยาแพงกว่าร้านขายยา 2 เท่าก็ทำได้แล้ว จากเดิมที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายาแพงกว่า 60-400 เท่า เช่น ไวตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาทใน โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) ของกระทรวงสาธารณสุข กลายเป็น 600 บาทใน รพ.เอกชน ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก. ราคา 6.50 บาทใน รพศ. กลับแพงถึง 450 บาทใน รพ.เอกชน จากงานวิจัยของนายแพทย์ไพบูลย์ สุริยวงศ์ไพศาล (อ่านต่อที่ https://www.hfocus.org/content/2015/05/9942)

ในอดีตโรงพยาบาลเอกชนนำค่ายาบวกเป็นค่าบริการโรงพยาบาลเพราะค่าวิชาชีพในด้านต่าง ๆ ไม่ได้สูงมาก แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะมีการเรียกเก็บค่าวิชาชีพทุกสาขา เช่น กรณีผ่าตัดกระดูกคอ ราคา 430,000 บาท มีค่าตอบแทนวิชาชีพแพทย์ผ่าตัดสูงถึง 170,000 บาท ค่าแพทย์ดมยา 10,000 บาท ค่าวิชาชีพพยาบาล 3,500 บาท

ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนระหว่าง ปี 2014 – 2017 จำนวน 159 เรื่อง จาก 67 โรงพยาบาล โดยเป็นปัญหาสำคัญ คือ 1. ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิฉุกเฉิน โรงพยาบาลให้ญาติเซ็นหนังสือปฏิเสธการใช้บริการฉุกเฉิน 2. ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล 3.ค่ารักษาพยาบาลแพง เรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บหรือเกินกว่าอัตราที่กำหนด หรือ 4. ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข เป็นต้น