2nd benefit

2nd benefit

คอบช.ชี้รัฐแก้ไขปัญหาค่ารักษาแพงไร้ผล พบค่ารักษารพ.เอกชนสูงถึง 1.4 ล้านบ.

 580722 ExpensiveHhospitalTreatment

คณะอนุด้านบริการสุขภาพ คอบช. เผยผลการศึกษาปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง พบมาตรการรัฐไม่สามารถไม่แก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงได้จริง พบใบเสร็จสูงถึง 1.4 ล้านบาท ย้ำรัฐต้องปรับปรุงทั้ง 3 สิทธิให้เท่าเทียม ลลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพและประชาชนต้องเข้าถึง

วันนี้ (22 ก.ค. 58) คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) ร่วมกับ เครือข่ายผู้ป่วย และ เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร แถลง "นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิได้ทุกที่ จริงหรือไม่ ถ้าต้องจ่ายแพง" ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย กรุงเทพฯ

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคอบช.ด้านบริการสุขภาพ เผยว่า ตามที่ได้ติดตามสถานการณ์ผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแพงมากเมื่อไปรับบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าระบบบัตรทอง ประกอบกับมีประชาชนกว่า 3.3 หมื่นรายชื่อได้ร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชนนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้บริการฉุกเฉินกรณีที่ร้องเรียนค่ารักษาแพง พบว่ามีใบเสร็จที่เรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงจริง เช่น กรณีผู้ป่วยบัตรทอง ล้มหมดสติได้รับการส่งตัวโดยรถฉุกเฉิน1669 วินิจฉัยว่าเป็นสมองขาดเลือด รักษา 9 วันได้รับใบเสร็จ 1.4 ล้านบาท

“โรงพยาบาลได้มีการส่งเรื่องขอเบิกค่ารักษาจาก สปสช. ได้คืนเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของใบเสร็จที่เรียกเก็บเท่านั้น เมื่อศึกษาจากเอกสารใบเสร็จพบข้อสังเกตคือ มีการแจ้งรายการแบบรวมๆ เช่น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจวินิจฉัย ค่าแพทย์ ค่าบริการพยาบาล ค่าห้อง ฯลฯ ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดว่าเป็นยาตัวใด ราคาเท่าไร นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า สปสช. จ่ายเคลมโดยพิจารณาจากโรคและกลุ่มอาการที่วินิจฉัย รวมจำนวนวันพักในโรงพยาบาล ประกอบกับลักษณะเพศ วัย เมื่อเทียบกับการจ่ายของ กรมบัญชีกลาง ตามรายโรคก็พบว่าใกล้เคียงกับ สปสช. จ่าย ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนจะอ้างว่าต้องลงทุนสูง แล้วเรียกเก็บเงินมากกว่าราคาโดยทั่วไปถึง 20 เท่าจึงเป็นราคาที่แพงเกินไป” ประธานคอบช.ด้านบริการสุขภาพ กล่าว

ด้าน นายชูชาติ สุกันต์ ตัวแทนศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กรุงเทพฯ เน้นย้ำว่า กรณีอุบัติเหตุทางรถ อุบัติเหตุอื่นๆ และป่วยฉุกเฉิน ให้แจ้งหน่วยรับเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินเบอร์ 1669 ทันที และขอให้รถของโรงพยาบาลของมูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมให้บริการฉุกเฉิน นำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลของรัฐไว้ก่อนดีกว่า

“แม้โรงพยาบาลรัฐจะรอคิวบ้าง แต่ก็สบายใจเมื่อจะต้องออกจากโรงพยาบาล เพราะกองทุนบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ตามจ่ายให้ได้ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะป่วยมากขึ้นเมื่อเห็นบิลค่ารักษา นอกจากนี้อยากคุยกับบรรดารถมูลนิธิฯ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น” นายชูชาติ สุกันต์ กล่าว

ทางด้าน นายธนพล ดอกแก้ว ตัวแทนผู้ป่วยโรคไต ย้ำว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะปรับปรุงระบบบัตรทอง ควรมีการปรับปรุงทั้ง 3 สิทธิ คือข้าราชการ บัตรทอง และประกันสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาต้องมีประสิทธิภาพและประชาชนคนไทยต้องเข้าถึง

“ส่วนเรื่องที่กลุ่มหมอออกมาให้ข่าว ปลุกกระแสว่าระบบหลักประกันสุขภาพทำให้เสียขวัญกำลังใจ ต้องทำงานหนัก สูญเสียอำนาจในการสั่งซื้อยา สั่งจ่ายยานั้นก็ต้องเร่งให้นายกฯ พิจารณาออกกฎหมายคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับผู้ป่วย โดยเร็ว เพื่อช่วยคุ้มครองให้หมอและบุคลากรอื่นๆ ไม่ต้องสูญเสียเงินและค่าใช้จ่ายอื่นๆเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เพราะกฎหมายนี้จะจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชยให้ผู้ป่วยแทนโรงพยาบาลหรือตัวหมอเองด้วย” ตัวแทนผู้ป่วยโรคไตกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาของรัฐบาลกรณีค่ารักษาพยาบาลแพง พบว่า รัฐบาลเพียง

  1. ออกมาตรการให้โรงพยาบาลติดราคาค่ารักษาและให้ติดราคายาหน้ากล่องบรรจุไว้
  2. ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับ อย. จัดทำเว๊บไซต์ราคายา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสืบค้นหาราคาได้
  3. ผู้ป่วยสามารถขอใบสั่งยาจากโรงพยาบาลไปซื้อยาเองได้ และ
  4. ให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบโรงงานผลิตยาหรือบริษัทยาให้มีการติดป้ายราคายา

ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คอบช.ด้านบริการสุขภาพ เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

ดังนั้นหากผู้ป่วยมีภาวะวิกฤติฉุกเฉิน ให้ญาติ หรือ รถฉุกเฉิน 1669 นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ให้รีบโทรแจ้ง 1330 เพื่อประสานงานและติดตามเรื่องต่อให้ และไม่ต้องยอมจ่ายเงินล่วงหน้าให้โรงพยาบาล หากมีการข่มขู่ หรือกักตัว ให้ไปแจ้งความได้เพราะผิดกฎหมายอาญา และผิดจริยธรรมแพทย์ในการรักษาด้วย

นอกจากนี้ คอบช.ด้านบริการสุขภาพ ได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรการฉุกเฉินดังนี้

  1. ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินจาก 72 ชั่วโมง หรือเวลาที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
  2. การเบิกเงินคืนจาก สปสช. โรงพยาบาลจะเบิกเงินคืนได้ไม่เกิน 2 เท่าของชุดสิทธิประโยชน์โดยพิจารณาจากความยุติธรรม
  3. ใบเสร็จควรแสดงรายการด้วยภาษาไทยกำกับ และแสดงรายละเอียดของการรักษารวมการใช้เวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย
  4. ให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐมาดูแลอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความเข้าใจของผู้ป่วย รวมถึงการช่วยเหลือให้ข้อมูลผู้ป่วย

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: ราคายา , คอบช. , ค่ารักษาแพง