2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

คำถามและคำตอบ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ อย. ถ่ายโอนภารกิจตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรให้กระทรวงเกษตรฯ

ark610910

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ อย. ถ่ายโอนภารกิจตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรให้กระทรวงเกษตรฯ

ถาม - ประกาศอะไรที่ร้องศาลขอให้เพิกถอน

ตอบ - ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน 2559 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา

ถาม - ทำไมต้องเพิกถอนประกาศ อย.ดังกล่าว

ตอบ - ขั้นตอนและวิธีการ ในการออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ อย.มีหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ แห่งพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 แต่กลับไปถ่ายโอนภารกิจหลักของตนเองไปให้กระทรวงเกษตรฯ ตามหลักความชอบด้วยกฎหมายทางปกครอง ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจให้กระทำเช่นนั้น

         ประกาศดังกล่าวมีสถานะเป็น "กฎ" ซึ่งการจะออกกฎได้ต้องอาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติ แต่การออกประกาศครั้งนี้ไม่ได้อ้างอิงฐานอำนาจจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่กลับอ้างอิงนโยบายของรัฐมนตรี และข้อเสนอจากคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมาเป็นฐานอำนาจ ซึ่งไม่ถูกต้อง

         อีกทั้ง ประกาศดังกล่าวไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อันเป็นข้อปฏิบัติในการออกกฎที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปของหน่วยงานทางปกครอง

         เนื้อหาของประกาศมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ อย.เป็นฝ่ายปกครอง มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และกฎระเบียบแบ่งส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย โภชนาการ อันมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมโดยตรงที่เป็นผู้บริโภคทั้งหลาย แต่กลับละเลย โอนภาระภาระหน้าที่ของตนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายไปให้หน่วยงานอื่น ซึ่งเท่ากับละทิ้งภารกิจ คดีนี้จึงเป็นคดีปกครองในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

         อีกทั้งการดำเนินการตามประกาศ ฯ ฉบับดังกล่าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลดทอนมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค การตรวจสอบความปลอดภัยส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคโดยตรงกล่าวคือ หากการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารดังกล่าวไม่ได้คุณภาพและปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงในวงกว้างซึ่งเป็นผู้บริโภคทั้งหลายให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งในเรื่องโภชนาการ สุขภาพอนามัย โรคภัยไข้เจ็บ และความเสียหายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะตามมาในภายหน้าได้

ถาม - ผู้ฟ้องคือใคร

ตอบ - ผู้ฟ้องประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนกรรมการ และ

ผู้เชี่ยวชาญ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) อีก 9 คน

       ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าวขององค์กรผู้บริโภค เป็นการทำหน้าที่ของผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคโดยรวม โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง และให้รัฐทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๖๑

ถาม - ผู้ถูกฟ้องคือ

ตอบ - ผู้ถูกฟ้องประกอบไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมปศุสัตว์, กรมประมง, กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ถาม - ก่อนฟ้องคดี ผู้ฟ้องเคยดำเนินการอย่างไรแล้วบ้างเพื่อทักท้วงความไม่ชอบของประกาศดังกล่าว

ตอบ - คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้เคยทำหนังสือขอข้อมูลกระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งกลับไปที่กระทรวงเกษตรหลังได้รับถ่ายโอนภารกิจตามประกาศดังกล่าว โดยขณะนั้น มีข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สหรัฐฯปฏิเสธการนำเข้าสินค้าไทย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 เนื่องจากตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามข้อตกลงทั้งสิ้น 13 รายการ เช่น มะขาม กะทิ ปลาทูน่า ถูกตรวจพบว่ามีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกเน่าเสียไม่เหมาะจะเป็นอาหารเพื่อการบริโภค จากข้อมูล สินค้าจะถูกส่งกลับมายังประเทศไทย

         ซึ่งเดิมการตรวจสอบอาหารส่งกลับ ไม่ว่าจะนำมาผลิตใหม่ เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ หรือไม่ต้องผ่านการพิจารณาตามพระราชบัญญัติอาหาร โดยส่งเข้าคณะกรรมการอาหารเพื่อพิจารณา แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ยอมตอบ จดหมายของทาง คอบช.ดังกล่าว และเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ คณะอนุกรรมการด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. ยังได้ทำหนังสือทวงถามถึงกระบวนการทำงานไปที่กระทรวงเกษตรอีก 4 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ มีเพียง 1 ครั้งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ที่ตอบประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร แต่ไม่ตอบเรื่องวิธีปฏิบัติงานตามประกาศดังกล่าว

     ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกลุ่มนักวิชาการในนามศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกเอกสารชื่อว่า "มองรอบด้านร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร" ที่แสดงข้อมูลทางวิชาการคัดค้านการถ่ายโอนอำนาจตามประกาศดังกล่าว แต่ก็พบว่าทั้ง อย.และกระทรวงเกษตรฯไม่ได้ฟังคำทักท้วงจากทางองค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการแต่อย่างใด

ถาม - ตัวอย่างความเสียหายที่เกิดขึ้นจากประกาศ อย.ดังกล่าว

ตอบ - เดิมในการตรวจสอบ การนำเข้า สินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้ามาประเทศไทยนั้น อย. มีกระบวนการตรวจสอบ และประกันคุณภาพที่ด่านตรวจที่มีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างสินค้าที่ขออนุญาตนำเข้าไว้ตรวจสอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำเข้ามาและวางจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยสู่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคทั้งหลาย แต่การตรวจสอบนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรฯหลังประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทำการตรวจสอบเพียงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เก็บตัวอย่างสินค้าที่ขออนุญาตนำเข้าไว้ตรวจสอบดังเช่นที่ อย.เคยดำเนินการ

     เมื่อเดือนมีนาคม 2561 หลังจากที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว มีการนำเข้าปลาตาเดียวหรือปลาฮิราเมะ จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการปนเปื้อนจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากภัยพิบัตินิวเคลียร์เข้ามาในประเทศไทย จากบทสัมภาษณ์ของนางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กับสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการนำเข้าปลาจากจังหวัดดังกล่าวตามคำประกาศของผู้ส่งออกญี่ปุ่น โดยในการอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทย ของของกระทรวงเกษตรฯเป็นเพียงการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่มีการเก็บปลาตัวอย่างไว้ตรวจสอบแต่อย่างใด และยังกล่าวว่า ให้เป็นหน้าที่ของ อย.เมื่อสินค้าไปอยู่ในตลาดแล้ว ซึ่งถือเป็นการลดทอนมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม จึงร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลเพิกถอนประกาศดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้บริโภคต่อไปอีก

ถาม - คำร้องขอต่อศาล

ตอบ - ในการฟ้องคดีครั้งนี้ ได้ขอให้ศาลปกครองดำเนินการใน 3 ข้อ คือ

  1. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน “ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน 2559” ทั้งฉบับ และสั่งให้ กระทรวงสาธารณสุข และ อย. ยุติการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร
  2. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522
  3. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งให้หน่วยงานในสังกัด หยุดปฏิบัติหน้าที่ตาม“ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน 2559

   นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินคำร้องและได้โปรดมีคำสั่งให้เป็นไปตามคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษา