2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

กินเจปีนี้ ถั่วลิสงดิบปลอดภัยจากสารพิษเชื้อรา (อะฟลาท็อกซิน)

 press peanut 590919-01

ถั่วลิสงดิบผ่านมาตรฐานสารพิษจากเชื้อรา (อะฟลาท็อกซิน) 100 % ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง จำนวน 11 แหล่ง(ยี่ห้อ) ปลอดภัย ไร้กังวลเรื่องสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพิษของเชื้อรา มีเพียงหนึ่งยี่ห้อ ที่ตรวจพบสารพิษเชื้อราอะฟลาท็อกซิน แต่ไม่เกินมาตรฐาน

          19 ก.ย. 59 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ติดตามจัดอันดับอาหารปลอดภัย เห็นความสำคัญของอาหารในช่วงเทศกาลกินเจ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วลิสงดิบชนิดบรรจุถุง จำนวน 11 ตัวอย่าง จากทั้งห้างและตลาดสดรวม 8 แห่ง ได้แก่

ยี่ห้อ

สถานที่เก็บ

ปริมาณอะฟลาท็อกซิน
(ไมโครกรัม/กิโลกรัม)

ราคา
(บาทต่อกิโลกรัม)

1. ธัญพืชตรา aro

แมคโคร สาขาสามเสน

ไม่พบ

74

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ซิ่มยิ่งง้วน (ตักแบ่งขาย)

ตลาดเยาวราช

ไม่พบ

80

3. ท็อปส์

ท็อปส์ สาขาโชคชัย 4

ไม่พบ

83.33

4. บิ๊กซี

บิ๊กซี สาขาพระราม 2

ไม่พบ

84

5. ข้าวทอง

เทสโก้โลตัส สาขา ลาดพร้าว

ไม่พบ

88

6. ร้านง่วนสูน (ตรามือที่ 1)
(ตักแบ่งขาย)

ตลาดเยาวราช

ไม่พบ

90

7. ไร่ทิพย์

เทสโก้โลตัส สาขา ลาดพร้าว

ไม่พบ

94

8. เทสโก โลตัส (ตักแบ่งขาย)

เทสโก โลตัส สาขาพระราม 2

ไม่พบ

130

9. ดร. กรีน

กรูเมต์ มาร์เก็ต พารากอน

ไม่พบ

147.50

10. ตะวันพืชผล

บิ๊กซี เอ็กตร้า สาขาลาดพร้าว

ไม่พบ

260

11. โฮม เฟรช มาร์ท

กูร์เมต์ มาร์เก็ต พารากอน

พบไม่เกินมาตรฐาน

- บี 1 จำนวน 1.81
(ไมโครกรัม/กิโลกรัม)

- บี 2 จำนวน 0.5
(ไมโครกรัม/กิโลกรัม)

102

peanut test for web        

จากผลการทดสอบถั่วลิงสงดิบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบว่า 10 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพิษเชื้อรา(อะฟลาท็อกซิน) จำนวน 10 ยี่ห้อ มีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการปนเปื้อน คือ ถั่วลิสงดิบยี่ห้อ โฮม เฟรช มาร์ท ผลิตโดย บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด ที่เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน แต่เป็นปริมาณที่พบน้อยมาก คือ พบอะฟลาท็อกซิน ชนิด บี 1 จำนวน 1.81 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบชนิดบี 2 ที่น้อยกว่า 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่งนับว่า ปริมาณที่พบนี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทั้งของมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(Codex) และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98/2529 โดยอนุญาตให้พบได้สูงสุดไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และ 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ

press peanut 590919 monruedee
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.)
ได้กล่าวถึงอันตรายของอะฟลาท็อกซิน ว่า เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราโดยเฉพาะกลุ่ม แอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งโดยทั่วไปสารพิษที่พบนี้จะมี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี 1, บี 2, จี 1, และ จี 2 สารพิษจากเชื้อรา นี้ องค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง และจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยเฉพาะในอาหารกลุ่มเสี่ยงจำพวก ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯ

การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติเนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาว คือ อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกายจะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากสารพิษนี้จะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับ

press peanut 590919 saree
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
กล่าวว่า จากการทดสอบครั้งนี้ทุกตัวอย่างปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน ถือได้ว่า ถั่วลิสงดิบปลอดภัย 100 % มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ตรวจพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน แต่ไม่เกินมาตรฐานทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศ และของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นเรื่องดี ถั่วลิสงนั้นจัดเป็นอาหารทั่วไป ที่ไม่ต้องแสดงฉลากแต่หากอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ต้องแสดงฉลากพบว่า ทั้ง 9 ยี่ห้อแสดงฉลากได้ถูกต้อง

“ต้องขอชมเชยผู้ประกอบการที่มีการตรวจคุณภาพและดูแลสินค้าของตนเป็นอย่างดี ขอให้รักษามาตรฐานเช่นนี้ไว้ต่อไปเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเพิ่มความน่าเชื่อถือต่ออุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ยกระดับมาตรฐานอาหารโลก” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

ติดตามผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ www.chaladsue.com