2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เครือข่ายผู้ป่วยและองค์กรสุขภาพทั่วโลกรุมประณามข้อตกลงใช้สิทธิโดยสมัครใจระหว่างกิลลิแอดและบริษัทยาอินเดีย ขัดขวางการเข้าถึงยา

Pakhnyushchyy-600x330

กิลลิแอดทำข้อตกลงให้บริษัทยาอินเดียผลิตยาชื่อสามัญรักษาไวรัสตับอักเสบซีราคาถูกขายได้ในประเทศยากจน แต่ไม่อนุญาตให้ขายในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย จีน และหลายประเทศในตะวันออกกลางและละติน มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ชี้ เป็นแทคติคบริษัทยา หากำไร กีดกันผู้ป่วยเข้าถึงยาแบบใหม่

 

(กรุงเทพฯ-นิวเดลี/16 ก.ย.57) นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทยากิลลิแอดได้ทำข้อตกลงการใช้สิทธิโดยสมัครใจให้บริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียชั้นนำ อาทิ ซิปพล้า แรนบัคซี่ และ ไมแรน สามารถผลิตยารักษาไวรัสตับอักเสบซี Sofosbuvir และขายในประเทศยากจน 91 ประเทศ จากราคา 1,000 ดอลลาร์ต่อเม็ดที่ขายในสหรัฐฯเหลือเพียงเม็ดละ 10 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่เหมือนจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงยารักษาชีวิตผู้ป่วยกลับซ่อนเงื่อน ไม่ให้ขายกับประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ไทย ฟิลิปินส์ มาเลเซีย จีน รัสเซีย บราซิล ตุรกี ยูเครน หลายประเทศในตะวันออกกลางและละตินอเมริกา ซึ่งมีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีอยู่รวมกันประมาณร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั่วโลก

“ประมาณการผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในไทยอยู่ที่ 1.45 ล้านคน ถ้าต้องซื้อในราคาปัจจุบันคือ 2,520,000 บาทต่อ 1 การรักษา จะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3 ล้านๆบาทมากกว่างบประมาณแผ่นดินของไทยเสียอีก แต่ถ้าสามารถใช้ยาชื่อสามัญได้ จะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีลดลงถึง 90% ทีเดียว

นี่คือแทคติคใหม่ของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ดูแลผู้ป่วยในประเทศยากจนที่ผู้ป่วยไม่มาก แต่บังคับทำกำไรกับผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนา โดยดึงอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญอินเดียเป็นพวก เพราะ ทำเช่นนี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะไม่ไปคัดค้านหรือฟ้องร้องเพิกถอนสิทธิบัตรซึ่งอันที่จริงไม่มีความใหม่ และนวัตกรรมที่สูงขึ้นแต่อย่างใด เท่ากับตัดคู่แข่งได้สำเร็จ ไม่มียาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่จำเป็นต้องลดราคา นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เครือข่ายองค์กรสุขภาพและผู้ป่วยในไทยจับมือกับทั่วโลกออกแถลงการณ์ประนาม”

VL map

สีส้ม คือประเทศที่บริษัทอินเดีย สามารถขายยาในราคาถูกได้
สีแดง คือประเทศที่บริษัทอินเดียไม่สามารถขายยาราคาถูกให้ได้

 

ทั้งนี้ ในไทย บริษัทกิลลิแอดได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรไว้หลายคำขอ ซึ่งนักวิชาการด้านยาและทรัพย์สินทางปัญญามองว่า เป็นคำขอที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรเพราะไม่มีความใหม่และนวัตกรรมที่สูงขึ้นอันเป็นคุณสมบัตรสำคัญของสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องการขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตร โดยในวันจันทร์ที่ 22 ก.ย.นี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายผู้ใช้ยา จะเดินทางไปกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยา sofosbuvir ดังกล่าว


ไวรัสตับอักเสบซีเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งมีประชากร 185 ล้านคนเป็นผู้มีเชื้อชนิดนี้ทั่วโลก แต่ต้องเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 คน ทั้งที่ไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ราคายาที่สูงทำให้ยากจะเข้าถึงการรักษา และทำให้คนเสี่ยงจะเป็นมะเร็งตับหรือตับล้มเหลว โดย sofosbuvir เป็นยาต้านไวรัสที่มีผลโดยตรง (direct acting antiviral - DAA) ที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี เชื่อว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการรักษาและลดระยะเวลาการรักษาโรค การเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ


สำหรับองค์กรในไทยที่ร่วมลงนามครั้งนี้ประกอบไปด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายผู้ใช้ยา คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด

รายละเอียดติดต่อ คุณเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล 081 612 9551