2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กทม. กังวล การปรับลดค่าธรรมเนียมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ อาจส่งผลต่อเรื่องความสะอาดและคุณภาพน้ำ

pic 04092019 1
ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร กังวล การปรับลดค่าธรรมเนียมตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญจะทำให้ผู้ประกอบกิจการไม่คำนึงถึงความสะอาดและคุณภาพน้ำ แนะ กทม. ควรมีมาตรการจัดการกับผู้ประกอบกิจการอย่างเข้มข้นเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง พร้อมร่วมทำงานกับทุกสำนักงานเขตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

          จากการที่ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ร่วมกับนักวิชาการอิสระ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ทำการสำรวจข้อมูลทางกายภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี 2558 - 2559 ในเขตพื้นที่ กทม. ผลสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 95 มีตู้น้ำดื่มเถื่อนทั่ว กทม. โดยที่ 1,600 กว่าตัวอย่างนั้นไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้อง ต่อมาศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ ในแต่ละพื้นที่ได้ให้ข้อมูลการสำรวจกับหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานเขต กทม. เพื่อให้มีการขับเคลื่อนและผลักดันเข้าเป็นหนึ่งในมติน้ำดื่มปลอดภัยในสมัชชาสุขภาพ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กทม. รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร  เพื่อให้บรรจุเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนในพื้นที่ กทม. ขณะเดียวกันเมื่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้รับจดหมายและข้อมูลการสำรวจ จึงมีคำสั่งด่วนพิเศษให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการสำรวจข้อมูลตู้น้ำดื่มในพื้นที่ พร้อมทั้งเชิญผู้ประกอบกิจการเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง และดำเนินการสำรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้นอีกด้วย

          ต่อมา กทม. ได้มอบหมายให้ทางสำนักอนามัยจัดประชุมหารือกับผู้ประกอบกิจการเพื่อรับฟังปัญหาที่ผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการขออนุญาต เนื่องจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขออนุญาตรายปี มีอัตราที่สูงถึง 2,000 บาท/ปี จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตาม หลังจากที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ประกอบกิจการ เรื่องอัตราค่าธรรมเนียม ทาง กทม. จึงรับข้อเสนอมาและผลักดันให้เกิดการลดค่าธรรมเนียมลงตามข้อเสนอดังกล่าว โดยลดเหลือในอัตรา 500 บาท/ปี ส่วนศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ ยังคงประสานงาน ติดตาม และสำรวจข้อมูลตู้น้ำดื่มเพิ่มเติมเพื่อนำข้อมูลส่งต่อสำนักงานเขตในพื้นที่ รวมถึงยังมีการติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเขตเพื่อจะได้ทราบถึงความคืบหน้าข้างต้น

          วันนี้ (4 กันยายน 2562) ศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ ที่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จัดแถลงข่าวเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ในเขตกรุงเทพมหานคร

          ปราณี อุ่นแอบ ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตคลองสามวา กล่าวว่า จากการติดตามของศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ อย่างต่อเนื่อง พบว่า ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ได้ปรับลดราคาค่าธรรมเนียมการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติจากเดิมตู้ละ 2,000 บาท ปรับมาเป็นตู้ละ 500 บาท ส่วนตู้ต่อไปคิดเพิ่มอีกตู้ละ 20 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบกิจการที่เรียกร้องให้ค่าธรรมเนียมลดลงเพื่อขจัดอุปสรรคในการขออนุญาตpic 04092019 2

          ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตคลองสามวา กล่าวอีกว่า ศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ จึงขอสอบถามไปยัง กทม. ว่าได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการทั้งรายเก่าและรายใหม่รับทราบหรือไม่ และสำหรับตู้ที่ชำรุดบกพร่อง ทั้งในส่วนที่ยังให้บริการหรือไม่สามารถให้บริการได้แล้ว กทม. จะมีมาตรการในการจัดการตู้น้ำดื่มเหล่านี้อย่างไร อีกทั้ง กทม. จะสามารถเปิดเผยข้อมูลการขออนุญาตประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการที่มีการขึ้นทะเบียนขออนุญาตได้หรือไม่    

          ทั้งนี้ ในเรื่องการสำรวจคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญที่ทางผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการทดสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องนั้น ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อย กล่าวว่า จึงอยากถามไปยังผู้ประกอบกิจการว่ามีการดำเนินการอย่างไร และได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้บริโภคทราบหรือไม่ อย่างไร หรือมีการแสดงฉลากให้ผู้บริโภครับทราบหรือไม่ หรือมีการดำเนินการอย่างไร ในกรณีผู้ประกอบกิจการเปลี่ยนไส้กรองตามเกณฑ์กำหนด เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริโภคpic 04092019 3

          “การที่มีการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมลงนั้น อาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ประกอบกิจการละเลย หรือไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสะอาดและคุณภาพน้ำ ดังนั้น จึงอยากฝากให้ กทม. มีมาตรการในการจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด และผู้ประกอบกิจการที่ไม่ดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ดื่มน้ำที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ” ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อยกล่าวpic 04092019 4

          ด้านพนิตา ฟองอ่อน ตัวแทนตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคแรงงานลาดกระบัง กล่าวว่า ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้ กทม. อันเป็นท้องถิ่นพิเศษ เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการในสถานการณ์ปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มที่ยั่งยืนในพื้นที่ กทม. และมีการกำหนดมาตรการการจัดการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญเถื่อนหรือตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯ ในฐานะองค์กรพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกสำนักงานเขตในการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญในแต่ละพื้นที่ โดยการเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังประสานงาน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกสำนักงานเขตและ กทม. อีกด้วย