องค์กรผู้บริโภคจับมือภาคธุรกิจยุติการใช้สารพาราควอต ส่งสัญญาณ เราหยุดแล้ว ใยท่านจึงไม่หยุด

Written on . Posted in ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฮิต: 2128

610520 news
วันนี้ (20 พ.ค. 61)คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดประชุม "ความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต" เห็นร่วมกันต้องยุติการใช้สารกำจัดวัชพืชในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราควอต เพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค พร้อมเสนอนายก-กรรมการวัตถุอันตรายประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต


610520 2
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทางวิชาการ คอบช. สรุปได้ว่า สารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" มีอันตรายสูงทั้งต่อตัวผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะมีการจำกัดและควบคุมการใช้สารนี้อย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นร่วมกันที่จะยุติการใช้สารพาราควอตในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่ง คอบช. จะได้ทำหนังสือไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อให้พิจารณาประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อไป

"คอบช. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำหนังสือไปสอบถามบริษัทน้ำตาลจำนวน 47 บริษัทเรื่องนโยบายในการผลิตน้ำตาลว่ามีการใช้พาราควอตหรือไม่ และมีนโยบายหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับกลับมาทั้งสิ้น 7 บริษัท มี 3 บริษัทคือ บริษัท มิตรผล จำกัด บริษัท เกษรตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ที่ตอบมาชัดเจนว่ามีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้พาราควอต ขณะที่อีก 4 บริษัทตอบมาในลักษณะที่ว่ามีความพร้อมหากจะไม่ใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอ้อย ส่วนอีก 40 บริษัทที่เหลือ เราสามารถตีความได้ว่า 'ยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล'"

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องออกมาจัดการสารเคมีตัวนี้ หวังว่าท่านนายกและคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะก้าวหน้า ใช้หลักการระวังไว้ก่อนประกอบการพิจารณายกเลิกการใช้สารพาราควอต

610520 3
นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) กล่าวว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งสารกำจัดแมลง ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดรวมทั้งพาราควอตซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดถึง 120 ล้านกิโลกรัม

"ขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทางอาหารและเครื่องดื่มออกมาแสดงท่าทีและนโยบายของบริษัทที่จะไม่รับผลผลิตแะวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในธุรกิจ เป็นจุดยืนที่สำคัญในการทำ CSR ที่ทรงคุณค่าต่อสังคม และสามารถแยกแยะองค์กรของท่านออกจากธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้าสู่งสังคมที่มีอาหารที่ปลอดภัยโดยพลังของภาคธุรกิจ" นายวิเชียรกล่าว

610520 1
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลกระทบจากสารพาราควอตว่า มีผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและคน ต่อ่สิ่งแวดล้อมนั้นเมื่อฉีดลงดินจะส่งผลกระทบต่อดิน ทำให้ดินเสีย รวมถึงส่งผลต่อน้ำ เกิดการปนเปื้อนสารเคมีสู่สัตว์น้ำ นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกเช่นผึ้ง ส่งผลกระทบต่อวัชรพืชทำให้หญ้าดื้อต่อสารพาราควอต

"ฤทธิ์ของสารเคมีต่อร่างกาย ส่งผลกระทบ 2 รูปแบบนั่นคือแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แบบเฉียบพลันเช่นการกินเข้าไปส่งผลต่อร่างกายทั้งปาก คอ ปอด ลำไส้ เสียชีวิตใน 2 – 3 สัปดาห์ หลายคนใช้เพื่อฆ่าตัวตาย สารพาราควอตนั้นไม่มียาถอนพิษ พิษเรื้อรังต่อร่างกายส่งผลให้เกิดโรคพากิมสัน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย รวมถึงส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งมีผลการศึกษาชัดขึ้นว่าทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นที่น่าสนใจว่า 50 ประเทศได้สั่งแบนสารเคมีตัวนี้แล้ว รัฐบาลต้องควบคุมการใช้เพราะเป็นสารเคมีอันตรายแม้แต่อาวุธปืนยังถูกควบคุมเลย" ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์กล่าว

610520 4
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัมเมื่อปี 2560 (เป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557) จะเห็นว่ามีการนำเข้ามากกว่าในปี 2559 กว่า 41% (31.5 ล้านกิโลกรัม) จำนวนสารเคมีที่มากขนาดนี้จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ ดังนั้นนอกจากการยุติการใช้แล้ว เราจะร่วมกันเฝ้าระวังการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้งในอาหารและในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ ในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารพาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ

"เราได้ข้อสรุปจากเวทีความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค – ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต นั้นมีข้อสรุป 4 เรื่องสำคัญนั่นก็คือ 1.ยุติการใช้พาราควอต 2.ลดการการใช้สารเคมีทางการเกษตรโดยภาพรวม เพื่อสนองนโยบายครัวโลก 3.ทำความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพราะทางภาคธุรกิจนั้นมีนโยบายที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งในกระบวนการต่อไปนั้นจะมีช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมอย่างไร และ4.สนับสนุนธุรกิจที่ทำระบบเกษตรอินทรีย์ และที่สำคัญเราขอสนับสนุน 7 บริษัทดังกล่าวที่ไม่ใช้สารพาราควอต" นางสาวสารีกล่าว

พร้อมกล่าวเสริมว่าคาดหวังว่าการประกาศยุติการใช้สารพาราควอตโดยเครือข่ายผู้ประกอบการในครั้งนี้จะทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ ง่ายขึ้นในการยกเลิกการใช้สารพาราควอตทั้งประเทศ "ถ้ารัฐจะเห็นแก่ผลประกอบการของนักธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าสุขภาพของประชาชนในประเทศ ก็ให้รู้กันไป

พิมพ์