2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย

S  13500423

วันที่ 21 ธ.ค. 2558 รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 ในหัวข้อ "สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย" ที่ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กล่าวว่า เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติถือเป็นเวทีที่สำคัญมากที่สุดเวทีหนึ่งของกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยกล่าวถึง 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ด้วยการสานพลังปัญญาและภาคี

     เมื่อ 2550 SherryR. Arnstein ได้กล่าวถึงบันไดแห่งการมีส่วนร่วมของพลเมือง ไว้ 8 ขั้นบันได ดังนี้

     ขั้นที่ 1 การบงการ (Manipulation) เป็นการสั่งการให้ร่วมมือ

     ขั้นที่ 2 การเยียวยาเฉพาะกลุ่ม (Therapy) เป็นการมีส่วนร่วมของผู้เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม

     ขั้นที่ 3 การให้ข้อมูล (Informing)การให้ข้อมูลถึงสิทธิ ความรับผิดชอบ และทางเลือก ซึ่งขั้นที่ 3 นี้ เริ่มเป็นขั้นแรกที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งบ่อยครั้งเน้นเฉพาะการสื่อสารทางเดียวจากเจ้าหน้าที่รัฐสู่ประชาชน โดยไม่มีช่องทางที่ประชาชนจะให้ข้อมูลป้อนกลับและไม่มีพลังในการต่อรอง ภายใต้สถานการณ์นี้ ข้อมูลที่ให้มักเป็นข้อมูลสุดท้ายของการวางแผน ประชาชนมีโอกาสน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดในรูปแบบเวทีให้ข้อมูล หรือการให้ข้อมูลด้วยเอกสารผ่านช่องทางต่างๆ

     ขั้นที่ 4 การปรึกษาหารือ (Consultation) เป็นการชวนให้ประชาชนร่วมปรึกษาหารือ เช่น การสำรวจทัศนคติ และการประชาพิจารณ์ ซึ่งถ้าการปรึกษาหารือไม่เชื่อมโยงกับขั้นต่อไปของการมีส่วนร่วม ก็ไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่มีสิ่งประกันว่าความห่วงกังวลหรือความคิดของประชาชนจะได้รับการพิจารณา

     ขั้นที่ 5 การทำให้พอใจ (Placation) เป็นกลยุทธของการมีส่วนร่วมโดยทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความพอใจ ด้วยการเลือกตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เข้าร่วมเป็นกรรมการในกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งกรรมการตัวแทนนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของชุมชนที่จะสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่

     ขั้นที่ 6 การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) เป็นการกระจายอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจกับชุมชน ด้วยการทำงานในลักษณะหุ้นส่วน ตกลงที่จะวางแผน ตัดสินใจ และรับผิดชอบร่วมกัน การเป็นหุ้นส่วนของพลเมืองจะมีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง มีกลไกการทำงาน มีทรัพยากรในการบริหารจัดการ ทั้งด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ

     ขั้นที่ 7 การมีตัวแทนที่มีอำนาจ (DelegatedPower) เป็นตัวแทนมีอำนาจต่อการตัดสินใจแผนงานและโครงการต่างๆ ที่สะท้อนความต้องการของชุมชน

     ขั้นที่ 8 การที่พลเมืองมีอำนาจ (Citizen Control) เป็นเรื่องยากที่พลเมืองจะมีอำนาจในการร่วมกำหนดนโยบาย ดำเนินงานแผนงาน และโครงการ เป็นอิสระตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เพราะอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจยังอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ

     จากทฤษฏีการมีส่วนร่วมของ SherryR. Arnstein เป็นการจำแนกระดับความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการสานพลังปัญญาและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ในรูปแบบสมัชชาสุขภาพนั้น อยู่ในขั้น 7 อาจถึง 8 ขึ้นกับความเข้มแข็งของภาคี ด้วยการคัดเลือกตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจ เข้าร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพตั้งแต่การสร้างนโยบายสาธารณะจนถึงการขับเคลื่อนจนเกิดการเปลี่ยนแปลง มีหลายมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สามารถขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น การสร้างกลไกใหม่ในการวางแผนจัดการระบบยาอย่างมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และการสร้างธรรมนูญสุขภาพที่ชุมชนต้องการ เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 ความสำคัญของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต่อการสร้างวิถีสุขภาวะไทย

     การสานพลังปัญญาจากเครือข่ายและภาคี จนเกิดพระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550 ทำให้มีการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปี มีมติสมัชชาฯออกมามากมาย ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นฉันทามติร่วมกันจากภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ตั้งแต่การก่อรูประเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกิดจากภาคีเครือข่ายที่มีวิสัยทัศน์ร่วมของวิถีสุขภาวะไทย ที่พลเมืองมีสุขภาวะทางกาย จิต สังคม และปัญญา สามารถกำหนดกรอบแนวทางของการพัฒนาในประเด็นเฉพาะ เป็นนโยบายสาธารณะ ในรูปแบบมติสมัชชา

     นั่นคือ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ เป็นกลยุทธที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทย ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม และการสร้างนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับสังคมไทย อย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายในสังคมไทย ซึ่งเป็นทิศทางของการสร้างสุขภาวะของสังคมไทย

     จะเห็นว่าเจ็ดปีที่ผ่านมาของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนมีนโยบายสาธารณะในรูปแบบมติสมัชชาออกมาถึง 64 มติ เมื่อมีทิศทางแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้าขับเคลื่อน มิฉะนั้นย่อมไม่ถึงจุดหมายปลายทางของการสร้างสุขภาวะสังคมไทย ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำให้กระบวนการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นมีทิศทาง มีความรับผิดชอบ และขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อส่งผลต่อการสร้างวิถีสุขภาวะไทย ซึ่งสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยหลักของความสำเร็จ คือ การมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบของทุกภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม ที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งความสำเร็จหรือความล้มเหลว เป็นเรื่องที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน ปรับปรุงและแก้ไข เพื่อทำให้ภาคีเครือข่ายได้มีบทเรียนในการพัฒนาให้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ นำไปสู่การสร้างสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน เช่น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ เรื่อง การเจรจาการค้า เอฟทีเอ ที่แม้ดูเหมือนว่ากว่าจะได้มติออกมา ได้มีความขัดแย้ง แต่มติดังกล่าวก็มีการขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่าย จนเกิดมรรคผลมากมาย เช่น มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระหว่างการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นเจ้าภาพหลัก จนเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศต่างๆ และยังนำไปสู่การร่วมพัฒนาจุดยืน และเนื้อหาการเจรจา ระหว่างภาคราชการ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ตลอดการเจรจาทั้ง ๖ รอบ ซึ่งกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพควรได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสุขภาพแห่งชาติอีกครั้ง ในการที่ไทยจะตัดสินใจเข้าร่วม ทีพีพี โดยจัดทำการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ ที่ให้ยึดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงวิชาการที่รอบด้านแล้ว ยังสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในบันไดขั้นที่ ๕-๖ และอาจนำไปสู่ขั้นที่ ๗ ได้

     ดังนั้น การขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างนโยบายสาธารณะ ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญต่อ/การขับเคลื่อนมติสมัชชา ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน และมีภาคีทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ โดยดิฉันได้มีโอกาสเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนภาคีภาคประชาสังคม และ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มี คุณเจษฎา มิ่งสมร เป็นประธานก็ได้ให้ความสำคัญของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยจัดให้มีห้องประชุมเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง เพื่อรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทบทวนมติสมัชชาที่ผ่านมา อันนำไปสู่การปรับปรุง และการสร้างนโยบายสาธารณะใหม่ที่ต้องการ เป็นวัฐจักรที่ต่อเนื่อง เป็นวัฐจักรของการพัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองสู่การสร้างสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ประเด็นที่ 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ ที่ได้จากการเลือกตั้งขององค์กรผู้บริโภคร้อยกว่าองค์กร ทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้บริโภค ตามบทบาทหน้าที่ ใน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ด้วยความเชื่อมั่นถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยผู้บริโภคต้องรู้สิทธิและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไม่ให้ถูกละเมิด ความเข้มแข็งของผู้บริโภค ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามร่าง พรบ.นี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับงานของหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่หน่วยงานรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย แต่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการสร้างพลังทางสังคม เช่นเดียวกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพ

     "ดิฉันมีความเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญของกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และการมี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการพัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองไทย โดยเฉพาะในฐานะผู้บริโภค การสานพลังปัญญาและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่มีอำนาจตัดสินใจ ด้วยความรับผิดชอบ ย่อมนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน และหวังว่ารัฐบาลและ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะทำให้มี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้" ประธาน คอบช. กล่าว

S  13500421