2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

คอบช. ค้าน อย.ออกประกาศฉลากจีเอ็มโอให้แจ้งส่วนประกอบตั้งแต่ 5% ขึ้นไปเท่านั้น ปล่อยผีสารประกอบที่ทำจากพืชสัตว์ดัดแปรพันธุกรรมไม่ต้องติดฉลาก ปิดบังข้อมูลผู้บริโภค

 

630331gmo2
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ไม่เห็นด้วยที่ อย.จะออกประกาศฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ให้แจ้งเฉพาะที่มีส่วนประกอบเกิน 5% เท่านั้น ชี้ละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค



ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เวียนขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ....ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมนั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯในโครงการนำร่องของภาคประชาชนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่สำคัญ เช่น การให้ความเห็นเสนอแนะต่อนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำและละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ ได้มีความเห็นต่อร่างประกาศฯ ว่า “อาหารทุกชนิดจำเป็นต้องระบุที่ฉลากว่า เป็นอาหารที่มีส่วนผสมของพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอที่ฉลาก โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีส่วนผสมกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อมาบริโภค” ตามหลักการสิทธิผู้บริโภคที่มีสิทธิรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภค ทั้งนี้ตามร่างประกาศฯ ให้ระบุบนฉลากเฉพาะเมื่อส่วนผสมที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมมากกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำผิดหลักการของกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่ทำหรือมีส่วนประกอบจากพืชหรือสัตว์ที่ทำมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ

supapon
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)
กล่าวว่า การทำร่างประกาศ สธ.ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมจะต้องนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง แต่ร่างประกาศที่ออกมา แม้จะครอบคลุมทั้งพืชและสัตว์จีเอ็มโอทุกชนิด แต่กลับระบุให้รายงานเฉพาะที่มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้ส่วนประกอบอื่นที่เป็นจีเอ็มโอที่ผู้ประกอบการจงใจใส่ลงไปในสูตร แต่น้อยกว่าร้อยละ 5 จะถูกยกเว้นไม่ต้องแสดงในฉลาก จนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอและไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดจีเอ็มโอได้จริง

“สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งมีความหมายว่าให้อาหารทุกชนิด ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และวัตถุเจือปนอาหาร ที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปร หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และใช้บริโภคเป็นอาหาร ต้องระบุที่ฉลากว่าเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของพืชดัดแปรพันธุกรรมที่ฉลาก โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีส่วนผสมกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อมาบริโภค
ถ้าเป็นไปตามร่างประกาศของ อย. สินค้าที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ดีมีการแสดงฉลากจีเอ็มโอโดยสมัครใจหลายรายการต่อไปจะไม่ต้องแสดงเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีส่วนประกอบต่ำกว่า 5% ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอเลย ถือเป็นการกระทำผิดหลักการของกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่ทำหรือมีส่วนประกอบจากพืชหรือสัตว์ที่เป็นจีเอ็มโอ” ประธาน คอบช.กล่าว

นอกจากนี้ จากงานสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากจีเอ็มโอ ชี้ชัดว่าผู้บริโภคต้องการให้มีการแสดงฉลากต้องแสดงข้อความด้วยตัวอักษรหนา และอ่านได้ชัดเจน สีของตัวอักษรตัดกับสีพื้นของฉลาก มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่า “GMO” บนฉลาก ไม่ใช่เป็นแค่ความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น
ประธาน คอบช. กล่าวเน้นย้ำว่า ถึงแม้ว่าจะเลยกำหนดระยะเวลาการรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ไปแล้ว แต่ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ในการบริโภคอาหาร

“สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ต้องรับฟังและพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อรักษาประโยชน์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ห่วงผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะ ปัจจุบัน ห้องทดลองสามารถตรวจสอบได้หมดหากมีการใช้พืชสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม โดยที่ทาง คอบช.และเครือข่ายจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทุกระยะ”