เครือข่าย ปชช.ชาวกาฬสินธุ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯตู่ วอนยุติกระบวนการแก้ไข ก.ม.บัตรทอง

Written on . Posted in เครือข่ายผู้บริโภค ภาคอีสานตอนบน ฮิต: 2330

press pic 18072017-001

วันนี้ (18 ก.ค.60) เวลา 11.10 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (เครือข่ายผู้หญิง) จ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนและผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.กาฬสินธุ์ นำโดย นายทรัพย์สุริยา อุทโท ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีนายมงคล อดทน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ รับหนังสือพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ประชาชนจะเสียประโยชน์จากการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.๒๔๕๔ หรือกฎหมายบัตรทอง


         นายทรัพย์สุริยา อุทโท ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนเองได้รับมอบหมายจากเครือข่ายให้มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กรณีให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ติดตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้ง 15 ปีที่ผ่านมาของการใช้กฎหมายดังกล่าวประชาชนได้รับประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยาที่เคยมีปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาเพราะราคาแพง เมื่อ สปสช.จัดซื้อยาทำให้กลุ่มตนเข้าถึงยา สามารถลดปัญหาโรคแทรกซ้อน การเสียชีวิต เมื่อเนื้อหาการแก้ไขโดยรวมแล้วทำลายเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอสงวน นิตยารัมย์พงศ์ เป็นผู้บุกเบิก เช่น สัดส่วนคณะกรรมการที่เพิ่มกลุ่มผู้แทนผู้ให้บริการมากกว่าผู้แทนภาคประชาชน จะกลายเป็นคณะกรรมการของหน่วยบริการโน้มเอียงที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าประโยชน์ของประชาชน

         ส่วนในเรื่องการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดซื้อยาแทน สปสช.ย่อมมองไม่เห็นหลักประกันว่ากลุ่มผู้ป่วยจะเข้าถึงยาและยาที่ใช้รักษาโรคที่พบไม่บ่อยที่เรียก กันว่ายากำพร้า ยิ่งเคยมีกรณีการทุจริตซื้อยาในกระทรวงสาธารณสุข 1,400 ล้านบาท ยิ่งหมดหวัง หากกระบวนการแก้ไขกฎหมายแย่ยิ่งกว่าเดิม ทางกลุ่มตนพร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุดเพราะเป็นเรื่องของชีวิต ย่อมเดิมพันกันด้วยชีวิต นายทรัพย์สุริยากล่าว


         ด้าน นางเยาวรัตน์ ไชยหอม ผู้ทำงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตร ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับคนชนบทเป็นอย่างมาก เพราะดูจากเนื้อหาหลักๆ แล้ว ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ประชาชน เช่น เรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะต้องร่วมจ่ายมากขึ้น เป็นภาระของประชาชนที่อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการขาดแคลนหมอที่จะส่งผลให้หมอย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือเมืองที่เจริญแล้ว

         ซึ่งหากแก้แล้วแย่จริงๆ ทางเครือข่ายของตนก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด เพื่อปกป้องและสืบสานเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอสงวน นิตยารัมย์พงศ์ เป็นผู้ริเริ่มต่อไป นางเยาวรัตน์กล่าว

(นายศตคุณ คนไว : ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน)

พิมพ์