2nd benefit

2nd benefit

ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 'กสทช.' ตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังประชาชน

 

telecom post news 

สมาคมผู้บริโภคร้องผู้ตรวจฯ สอบ "กสทช." เหตุตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังความเห็นปชช. ชี้องค์การอนามัยโลกเคยเตือนคลื่นวิทยุเสี่ยงมะเร็ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยประชาชนใน จ.ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจ.นครราชสีมา เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในเขตชุมชน โดยไม่มีการจัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชนตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพราะเกรงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังล่าช้าต่อการแก้ไขเรื่องร้องเรียน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมีนายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง 

นายปฏิวัติ เฉลิมชาตินายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมฯ ระบุว่า สมาคมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในชุมชน ซึ่งยังไม่สามารถยุติปัญหาได้ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหา 

โดยมีข้อร้องเรียนได้แก่ ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ การไม่จัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชน การตั้งเสามีกระบวนการทำงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงาน กสทช. ไม่สอดคล้องกัน ความล่าช้าของสำนักงาน กสทช.ในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชน ไม่สามารถยุติปัญหาได้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 46 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน 

และสำนักงาน กสทช.มีการโฆษณาว่า คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เมื่อกลางปี ค.ศ.2011 องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 208 ประกาศให้คลื่นวิทยุเป็นสารเสี่ยงมะเร็งในกลุ่ม 2B ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและเป็นเท็จต่อประชาชน

 

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559, 19:48
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/728807

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”

khonkaen news 250759 for web

วันนี้ 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุขจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อกลไกอภิบาลระบบสุขภาพและแผนด้านสุขภาพระดับชาติ ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อกลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ นำโดยคุณเทพรักษ์ คุณม้วน ถิ่นวิลัย ทราบข่าวจึงร่วมกันไปยื่นหนังสือในประเด็นข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาเปิดงานและเดินทางกลับในช่วงเช้า จึงได้ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ รอง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ประเด็นในการยื่นมีหลายประเด็น เช่น รมต.สาธารณสุขหยุดคุกคามบัตรทอง หยุดแทรกแซง สปสช. , การไม่บังคับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ, แยกระบบผู้ซื้อบริการ-ผู้ใช้บริการ, กระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปชนบท, ประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ


แถลงการณ์ ประกาศเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพ
“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”
*********************************

     จากการที่เครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อน ผลักดันจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกฎหมายออกมาคือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง ออกแบบให้ประชาชนคนไทยไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งระดับประเทศ ภาค จังหวัดและท้องถิ่น นับเป็นเวลา 14 ปีแล้วที่คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีภาระด้านค่าใช้จ่าย ถือเป็นการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนและทั่วโลกยอมรับ

     หากนับย้อนเวลากลับไป ต้นปี 2555 เป็นต้นมา มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างกระแส ทำให้ระบบบริการมีปัญหาเพื่อนำไปสู่การยุบ เลิก หรือแก้ไขสาระสำคัญของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเหตุการณ์อื่นๆที่ส่งผลภาวะภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การที่ สตง., คตร. เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินของ สปสช. ถือว่าเป็นเรื่องดีหรือมีนัยยะอื่นๆ การย้ายนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช., การแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและล่าสุดการคัดเลือกเลขา สปสช. ที่พยายามมิให้คนที่เหมาะสม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบให้ดีต่อไปเข้ามาบริหาร พยายามเอาพรรคพวกของตนเข้ามาบริหาร ยึดกุมทิศทาง

     อีกทั้งที่ผ่านมามีประเด็นที่พยายามทำผิดเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายที่จุดบริการ, การแยกเงินเดือนออกจากค่าหัวบัตรทองซึ่งไม่ควรแยก คนอยู่ไหนเงินอยู่ที่นั่นและเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้มาใช้บริการ(สิทธิบัตรทอง) เป็นภาระของประเทศ ซึ่งบัตรทองคือการลงทุนเพื่อสุขภาพไม่ใช่ภาระ รวมถึงสถานการณ์หลังออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ บัตรทองต้องไม่ล้มและไม่แย่กว่าเดิม

     พวกเราในนามคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ ขอประกาศเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิทธิของประชาชนไทย ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือร้องขอ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิอย่างมีคุณภาพ

     ระบบหลักประกันสุขภาพมีเป้าหมายเพื่อ เป็นหลักประกันสุขภาพให้คนไทยว่าเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษา โดยรัฐจัดหาบริการด้านการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ

     สิทธิที่ประชาชนได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพ จะได้รับบริการในด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟู จากการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพที่มากไปกว่าการเป็นผู้รับบริการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การพัฒนาระบบ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่

     เราขอเรียกร้องให้เครือข่ายแพทย์พาณิชย์ ธุรกิจยา หยุดพฤติกรรมล้มบัตรทอง หยุดหาประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ของประชาชน ผู้ใดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ เท่ากับทำสงครามกับประชาชน ระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้าได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

“ร่วมปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อคนไทย”

ด้วยความคารวะ 25 กรกฎาคม 2559
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น, เครือข่าย 9 ด้าน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์),
ศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์)

khonkaen news 250759 for web 02

ผู้ประสบอุบัติเหตุร้อง “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม นั่งรถโดยสารต้องปลอดภัย”

22807-01

วันนี้ (24 ก.พ.59) เวลา 9.30 น. ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์และศาลแขวงสุรินทร์  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานพร้อมด้วยทนายความและผู้ประสบภัยจำนวน 3 ราย ที่ประสบอุบัติเหตุจากกรณีรถยนต์โดยสารนำคณะ อบต.ตากูก อ.เขวาสิรินทร์ จ.สุรินทร์ เดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดตาก เกิดอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำบนถนนสายวังทอง-สากเหล็ก ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (เมื่อ 3 มี.ค.58) เป็นเหตุให้ผู้โดยสาร 52 คน ได้รับบาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 6 ราย ซึ่งได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ส่วนอีก 3 ราย ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันภัย จึงเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยจำนวน 3 รายดังกล่าว เดินทางมายื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในครั้งนี้

นางสาวจุรีรัตน์ เสนาะเสียง หนึ่งในผู้ประสบภัยกล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางไปกับคณะและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องถูกตัดขาด้านขวาทำให้ไม่สามารถทำงาน ยืน หรือยกสิ่งของ แม้กระทั่งเดินโดยลำพังได้อย่างคนปกติ  ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลาภาพไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ซึ่งต้องเสียบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต  ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง  เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน  1,959,165 บาท

นายนิยม บันลือทรัพย์  ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้นขาด้านซ้ายหัก ร่างกายซีกซ้ายได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก แขนซ้ายไม่สามารถยกของได้ และไม่สามารถทำงานได้อย่างคนปกติ จากเดิมตนเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลบุพการี 2 คน และบุตรอีก 2 คน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาตัว ตนนั้นไม่สามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้งภรรยาก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องคอยมาดูแลตนซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,464,767 บาท

นายอัมรินทร์ ดำเนินงาม  ได้รับบาดเจ็บจากแรงเหวี่ยงกระเด็นไปกระแทกกับเก้าอี้นั่งโดยสาร และถูกกดทับในตัวรถ ทำให้ร่างกายบาดเจ็บและบอบซ้ำอย่างหนัก จากอุบัติเหตุในครั้งนั้นที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจตลอดเวลา รู้สึกฝังใจไม่กล้าเดินทางไปไหนมาไหนโดยรถยนต์โดยสารอีก ทำให้ได้รับความทุกขเวทนาด้วยความเจ็บปวด  ไม่มีความสุข  และขาดความมั่นใจในการทำงาน  เรียกค่าเสียหาย 105,951 บาท

ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ประสานงานกับ อบต.ตากูก เพื่อแจ้งสิทธิและมอบชุดเอกสารความรู้เกี่ยวกับการเช่ารถรับจ้างไม่ประจำทางอย่างไรให้ปลอดภัย และที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถเช่าทัศนาจร  ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.สุรินทร์  ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาเข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์ให้องค์กรนำไปปฏิบัติและร่วมกันพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถโดยสารในประเทศไทยต่อไป

ที่มา: นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ  (ศูนย์เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน)