2nd benefit

2nd benefit

องค์กรผู้บริโภค ลงมติเดินหน้า กม.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค “ย้ำ” สนช. ต้องทำให้มีสภาเดียว

1549012169974

องค์กรผู้บริโภค 222 องค์กรและเครือข่ายผู้บริโภค 30 องค์กรลงมติ 248 จาก 270 เสียงรับร่าง กม.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคยืนยันต้องมีสภาเดียว เพื่อพลังผู้บริโภค



วันนี้ 1 ก.พ. 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) จัดงานประชุม “สมัชชาสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ วาระพิเศษ ร่วมกำหนดกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภค” เพื่อกำหนดทิศทางการมีสภาองค์กรผู้บริโภคร่วมกัน ณ โรงแรมทีเคพาเลซ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวถึงความสำคัญในการเดินหน้ากฎหมาย การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติว่า ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีบางมาตราที่ต้องปรับเพื่อสภาที่จะเกิดขึ้นเป็นตัวแทนของผู้บริโภคมีศักยภาพการดำเนินการในเชิงการป้องกันปัญหาผู้บริโภค และต้องมีสภาเดียว การมีหลายสภาย่อมไม่ทำให้เกิดตัวแทนของผู้บริโภคอย่างแท้จริง รวมถึงให้มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคระดับจังหวัดทุกจังหวัด และให้สภาผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน รับจดทะเบียนองค์กรในพื้นที่ และสภาผู้บริโภคต้องทำงานบนฐานวิชาการ การจัดการความรู้ของผู้บริโภค การทำวิจัยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจาก 222 องค์กรขณะนี้ และมีการใช้ข้อมูลจากผู้บริโภคที่ร้องเรียน

“การดำเนินการตามกฎหมายจะต้องทำให้การตรวจสอบการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้จริง สนับสนุนผู้บริโภคดำเนินคดี การฟ้องกลุ่ม และในยุคดิจิตอล 4.0 จะเป็นทิศทางผู้บริโภค 4.0 เกิดความเข้มแข็ง และจะร่วมกันติดตามกฎหมายนี้ต่อไปให้ การมีสภาองค์กรเพื่อเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีศักยภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” น.ส. สารีกล่าว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวถึงผลการลงมติขององค์กรผู้บริโภคว่าเห็นด้วยในการรับร่างการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 248 เสียงจาก 270 เสียง ซึ่งต่อจากนี้ต้องจับตากม.นี้ และทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนอื่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน

“การให้มีสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างนอกจากการมีสภาเดียวแล้ว เพราะจะทำให้มีสภาฯมีความเข้มแข็ง มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอจากภาครัฐ ต่อจากนี้ต้องจับตา กฎหมายนี้ และทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนอื่นๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน” ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์กล่าว
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธาน คอบช. เน้นย้ำเรื่องการผลักดันกฎหมายว่า ต้องมีส่วนร่วมของทุกองค์กร และจะติดตามตัวกฎหมายนี้ทั้งระดับภูมิภาคและในส่วนกลาง

“เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องสื่อสารให้คนในพื้นที่เตรียมตัวและสร้างความพร้อมและมีปฏิบัติการสื่อสารถึง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ในการแสดงผู้บริโภค” นางสุภาพรกล่าว
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการ คอบช. ด้านพลังงาน ให้ความเห็นว่าขณะนี้อำนาจรัฐได้รวมกับอำนาจทุน ซึ่งสิทธิผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นมาก

“ขณะนี้เครื่องมือของประชาชนคือความรู้ที่เราใช้อยู่มือถืออยู่ในมือ สามารถช่วยกันตรวจสอบ จึงเป็นอำนาจพลังของประชาชนในสังคมแบบใหม่ เราต้องเคารพเสียงส่วนน้อย และเดินตามมติเสียงส่วนใหญ่ มีความเป็นเอกภาพกันต่อไปเพื่อร่วมกันตรวจสอบและแสดงพลัง” ผศ.ประสาทกล่าว

น.ส.จุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวถึงสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อไปก็คือกลับไปเตรียมความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภค เพื่อรองรับกฎหมายที่กำลังจะออกมา แสวงหาความร่วมมือกับองค์การเครือข่ายติดตามกฎหมายที่กระทบกับผู้บริโภค และสร้างพลังในกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นขบวนเดียว

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ นายกสมาคมผู้บริโภคขอนแก่น กล่าวถึงแผนการที่ต้องดำเนินการต่อในพื้นที่ก็คือเตรียมขึ้นทะเบียนองค์กรและ ติดตามการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวถึงสภาผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าองค์กรผู้บริโภคต้องเดินหน้าขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคทันที เพื่อสร้างพลังองค์กรผู้บริโภค ต้องเฝ้าดูและเฝ้าระวังในการผลักดันให้เกิดสภาองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้เกิดตัวแทนผู้บริโภคอย่างแท้จริง

“ยืนยันเรื่องการผลักดันกฎหมายให้เป็นไปตามทิศทางการเสริมความเข้มแข็งผู้บริโภคและเชิญชวนให้พวกเราเตรียมตัวขึ้นทะเบียนได้ทันทีและเดินไปด้วยกัน” นายกสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตกกล่าว