2nd benefit

2nd benefit

หลายเหตุผลที่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับนโยบาย 3D

3D

       องค์กรผู้บริโภค เสนอคืนความสุขประชาชนด้วย กฎหมาย 3D ลดปัญหาผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานรัฐ ยั่งยืนด้วยนโยบายที่สามารถบังคับใช้ได้จริง...

       วันนี้ (วันที่ 4 กันยายน 2557) ที่โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และ เครือข่ายนักวิชาการ ร่วมกันแถลงข่าว ‘คืนความสุขประชาชน มอบ กฎหมาย 3D’ ภายใต้งาน “หลายเหตุผลที่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”


       จากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่ได้มีการติดตามสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ไม่มี ผู้บริโภคคนไหนที่ไม่เคยถูกละเมิดสิทธิ จากเรื่องเล็กๆ ของตนเองและของสังคมโดยรวม อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาลดความอ้วน เพิ่มพลังทางเพศ รักษาโรคสารพัดชนิด เสียเงินกับบริการเสริมโทรศัพท์มือถือโดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ ไม่ได้เปิดใช้งานซิมโทรศัพท์มือถือแต่โดนคิดค่าบริการ ค่าโทรศัพท์3G ไม่ลดร้อยละ 15 หรือค่าโทรศัพท์ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที สมัครบัตร ATM มีแต่บัตรเดบิตราคาแพงและผูกกับซื้อบริการเสริมหรือซื้อประกัน ค่าธรรมเนียมธนาคารที่ไม่เป็นธรรม อาหารไม่ปลอดภัย ปนเปื้อนสารเคมี สินค้าไม่ได้มาตรฐาน การหลอกลวงขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ปัญหาที่อยู่อาศัย เช่น บ้านไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามโฆษณา ราคาพลังงานไม่เป็นธรรม รถโดยสารไม่ปลอดภัย รวมถึงปัญหาด้านบริการสุขภาพที่เกิดความเหลื่อมล้ำของทั้งสามระบบ


       ปัญหาดังกล่าวหากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ลดน้อยลง ด้วยการจัดการปัญหาเชิงระบบ โดยสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภคและนักวิชาการในการเฝ้าระวังปัญหาผู้บริโภค รับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐ เปิดเผยชื่อสินค้าที่พบปัญหาและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำการศึกษาวิจัย เผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้สิทธิผู้บริโภค  


       นอกจากนี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยังเป็นหน่วยให้บริการ one stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ในการประสานงานและส่งต่อเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงตรวจสอบการการทำงานของหน่วยงานรัฐ


       อย่างไรก็ตาม แม้จะมีองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทเอกชน รวมถึงประชาชนที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิผู้บริโภค หากแต่กฎ กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่สามารถช่วยลดปัญหาผู้บริโภคอย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่หากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค องค์การฯ นี้จะเข้ามาตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในเชิงระบบ รวมถึงความร่วมมือกับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและยั่งยืน

 

       นายสมชาย แสวงการ  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมาการ พิจารณา ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญที่เข้าถึงโดยตรงผู้บริโภคมากที่สุด และยังเป็นกฎหมายที่ช่วยแก้ปัญหาผู้บริโภคได้ครบวงจร   หากภาคประชาชนขับเคลื่อนให้คณะรัฐบาล เห็นประโยชน์ขององค์นี้ ทางคณะรัฐบาลน่าจะรับฟัง   ทั้งนี้ยังเชื่อมั่นว่าภาคประชาชนจะเข้มแข็งที่จะผลักดันกฎหมายที่มีประโยชน์ฉบับนี้ได้   ถึงแม้ว่าพรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับนี้จะผลักดันกันมากว่า 16 ปี แล้ว ก็ขอให้มีเข็มแข็งผลักดันแบบมีส่วนร่วมแบบนี้ต่อไป  ซึ่งโดยสถานการณ์เช่นนี้ หากรัฐเห็นความสำคัญกับผู้บริโภคก็สามารถหยิบกฎหมายมาพิจารณาออกได้เลยเหมือนกัน อย่างเช่น กรณี กฎหมายทวงหนี้ ที่มีการหยิบยกเข้าไปวาระที่1 แล้ว ในสภา  ซึ่งหากกฎหมายผู้บริโภคฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบต่างๆ จนเข้ามาถึงในสภาฯ ผมจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

       ส่วนประเด็นจากเวทีเสวนา ที่ไป ที่มา ความสำคัญ หลายเหตุผลที่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  นั้น นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา  กล่าวว่า “ เหตุที่ต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากผมเป็นกรรมาธิการสมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า รัฐบาลชุดก่อน หลังจากแก้แล้ว ไม่ได้หยิบกฎหมายนี้เข้าสู่วาระ ทำให้ร่างกฎหมายองค์การอิสระฯยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย แสดงว่าจะไปหวังการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐเป็นเรื่องยากมาก

 

       การคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุด ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ราชการ แต่อยู่ที่ภาคประชาชน


       เนื่องจากภาครัฐจัดการคุ้มครองผู้บริโภคไม่จริงจัง ต้องให้ภาคประชาชนคุ้มครองกันเอง และมีภาครัฐเข้ามาช่วยหนุน ในเรื่องงบประมาณ การสื่อสารธารณะ ซึ่งจะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดผลอย่างแท้จริง หากผู้บริโภคไม่ตื่นตัว ก็ยากที่จะต่อกรกับผู้ประกอบการได้ เนื่องจากมีทุนที่น้อยกว่า และแทบไม่มีพลังที่จะต่อรอง ซึ่งหากเกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาคประชาชนอีกทางที่จะช่วยเหลือดูแลประชาชน  ไม่เหมือนกับหน่วยงานรัฐที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากปัญหาของผู้บริโภค แทนที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบของผู้ประกอบการ


       หากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาช่วยฟ้องผู้ประกอบการ ช่วยสู้ไปพร้อมกับผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคเกิดกำลังใจต่อสู้เรียกร้องสิทธิมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะเอาเปรียบเพราะมีหน่วยงานคอยตรวจสอบอยู่"

 

       รศ.ดร.นวลน้อย   ตรีรัตน์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ ในแง่ของเศรษฐศาสตร์  ทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อควรมีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคมักเสียเปรียบ เนื่องจากในเรื่องการผลิต ราคา เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคแทบไม่มีความรู้เท่าทันเลย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องใช้ต้นทุนเป็นจำนวนมาก และไม่ง่ายที่จะทราบข้อเท็จจริง การคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐมักจะแก้ปัญหารายกรณี ไม่มีการแก้ไขเชิงระบบ ทำให้เป็นผู้บริโภคต้องมีภาระต้องมาเรียกร้องอยู่เสมอ   ซึ่งหากมีองค์การอิสระจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาในเชิงระบบมากขึ้น


       เมื่อผู้บริโภคไม่เข้มแข็ง ทำให้ผู้ประกอบการไม่เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จึงเห็นว่าหากมีองค์การอิสระจะช่วยให้เกิดกลไกพัฒนาด้านการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพสู่ผู้บริโภคด้วย


       ในต่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในเรื่องของการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อให้ตนเองไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าบ่อยครั้ง


       เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีปัญหามากมายยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีประโยชน์มากที่จะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศนี้ดีขึ้น  และเห็นว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง แต่ก็ต้องยืนยันต่อไปว่าร่าง  พรบ.องค์การอิสระ ควรจะมีขึ้นในประเทศนี้    


       รศ.ดร.วิทยา  กุลสมบูรณ์   ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากคำถามว่าทำไมต้องมีองค์การอิสระ สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่ที่มาของร่าง พรบ.องค์การอิสระ แต่เป็นที่ไปของกฎหมาย หลังจากมีการพิจารณาร่าง พรบ.องค์การอิสระ มีการใช้เงินประชุม รัฐใช้เงินไปหลายล้านบาท แต่กฎหมายก็ยังไม่ออกมา  และปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนของผู้บริโภค มาช่วยแก้ปัญหาแทนผู้บริโภค จากการเข้าพบตัวแทนรัฐทำให้ทราบว่า หลายคนยังมีเข้าใจร่างกฎหมายองค์อิสระไม่ถูกต้อง เช่น องค์การอิสระฟ้องคดีได้เอง  เป็นต้น องค์การอิสระเป็นภาพรวมของการคุ้มครองผู้บริโภค ลดภาระกับผู้บริโภคที่จะต้องไปหลายหน่วยงาน


       ความเป็นไปได้เกี่ยวกับ ร่าง พรบ.องค์การอิสระ ยังมีความเป็นไปได้ เพราะมีหน่วยงานหลายส่วนสนับสนุน แต่อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณ และการได้มาซึ่งกรรรมการ ที่อาจถูกแทรกแซงจากหน่วยงานหรือนายทุนได้


       กล่าวโดยสรุป อาจแบ่งย่อยเส้นทางของร่าง พรบ. องค์การอิสระฯ เป็นสามแนวทาง คือ

           1.  ยุติไว้ก่อน และรอให้มีรัฐธรรมนูญซึ่งแนวทางนี้ อาจใช้เวลานานมาก

           2.  โหวตให้ผ่านไปเลย เกิดเป็นกฎหมาย

           3.  ไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นสถาการณ์พิเศษที่ควรรีบทำ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรรีบไปยื่นหนังสือขอให้ออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว

 

       ทางด้านนางสาวบุญยืน  ศิริธรรม กล่าวว่า ผู้บริโภคคือประชาชนทั้งประเทศ แม้ผู้ประกอบการในอีกสถานะหนึ่งก็เป็นผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องการเรียกร้อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ในวันนี้ อาจต้องส่งเสียงไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อฝากกฎหมายของประชาชนฉบับนี้ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ลดความขัดแย้งในบ้านเมือง และคืนความสุขให้แก่ประชาชนที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้มาถึง 17 ปี

 
       นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันส่งไปรษณียบัตรไปถึงนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยคนละ 10 ใบ เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้ออกกฎหมายองค์การอิสระ คืนความสุขแก่ประชาชนโดยเร็ว